กรุงเทพฯ 13 ก.พ. – ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ คาดตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 63 ขยายตัว 5-7% มั่นใจโควิด-19 ไม่กระทบยอดซื้ออาคารชุด เตรียมยกระดับสู่การเป็น “ศูนย์อสังหาริมทรัพย์แห่งชาติ” ในปี 64
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2563 น่าจะมีภาวะค่อนข้างทรงตัวต่อเนื่องจากปี 2562 แต่มีโอกาสที่จะขยายตัวได้สูงถึง 5-7% หากเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศมีการขยายตัวดีขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานและความมั่นใจของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในการตัดสินใจที่จะซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยมีปัจจัยบวกจากอัตราดอกเบี้ยต่ำและเป็นขาลง มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ของรัฐบาล การผ่อนปรนเกณฑ์ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ขณะที่ปัจจัยลบ คือ ภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัวหลายกิจกรรมเศรษฐกิจที่สำคัญ การระบาดของโควิด-19 สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลให้คาดการณ์ว่าจะมีการปรับตัวในภาคธุรกิจที่อยู่อาศัยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทุกประเภททั่วประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 372,500 –400,660 หน่วย หรือขยายตัว -0.2% – 7.3% เทียบกับปีที่ผ่านมา และมีมูลค่าถึง 853,100 – 917,100 ล้านบาท หรือขยายตัว -2.5% – 4.8% เทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคาดจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 197,500 – 214,300 หน่วย ซึ่งมีสัดส่วน 53% ของการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ และมีมูลค่าถึง 571,200 – 614,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีสัดส่วนหน่วย 67% ของการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ
ส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั่วประเทศ จะอยู่ที่ประมาณ 117,400 – 126,780 หน่วย เป็นมูลค่าถึงประมาณ 284,360 –305,700 ล้านบาท โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีสัดส่วนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ 73.6% และมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ 78.1% ซึ่งครึ่งแรกของปี 2563 คาดว่าจะมีการชะลอการโอนของคนจีนบ้าง เนื่องจากสาเหตุการระบาดโควิด -19 บ้าง แต่มีผลกระทบไม่มาก เนื่องจากผู้ซื้อห้องชุดคนจีนมีสัดส่วนพียง 6% ของผู้ซื้อทั้งหมดเท่านั้น
ด้านการเปิดตัวโครงการใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลปี 2563 จะอยู่ประมาณ 114,400- 122,600 หน่วย โดยเป็นห้องชุดประมาณ 55% หรือประมาณ 62,900 ถึง 67,400 หน่วย โดยการขอใบอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ประมาณ 97,500-100,400 หน่วย และจะอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 58.4% การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารทั่วประเทศประมาณการว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ประมาณ 292,100 ถึง 300,900 หน่วย โดยมีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดประมาณ 27.4% หรือประมาณ 80,000-82,400 หน่วย และใบอนุญาตก่อสร้างอาคารในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 แต่อาจมากกว่าเล็กน้อยประมาณ 129,000-132,900 หน่วย โดยมีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดประมาณ 51.1% หรือประมาณ 65,900-67,900 หน่วย ซึ่งหมายความว่า 82% ของอาคารชุดที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารทั่วประเทศจะกระจายตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
สำหรับปี 2562 มีการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศดีขึ้นเทียบกับปี 2561 โดยมียอดจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ถึง 373,365 หน่วย ขยายตัว 2.7% เทียบกับปีก่อนหน้า และมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ถึง 875,189 ล้านบาท ขยายตัว 4.3% เทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ผู้ประกอบการปรับแนวการผลิตที่อยู่อาศัยมาสู่แนวราบมากยิ่งขึ้น โดยจำนวนหน่วยที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศปี 2562 ลดลงถึงประมาณ 9.0%
ผู้ประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เห็นได้ว่าเริ่มมีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 และ 2560 แล้ว โดยจำนวนหน่วยที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศปี 2562 มีจำนวนลดลงถึงประมาณ 9.0% โดยจำนวนหน่วยที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดลดลง 24.0% และซึ่งเป็นสัญญาณว่า ปริมาณของอาคารชุดเกิดใหม่ในช่วง 1 – 2 ปีข้างหน้านี้น่าจะมีปริมาณลดลง ในส่วนของจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลปี 2562 มีจำนวนลดลงถึงประมาณ 32.1% โดยจำนวนหน่วยเปิดตัวใหม่ของอาคารชุดลดลง 34.3% และบ้านจัดสรรลดลง 29.0% ทำให้ภาวะที่มีหน่วยเหลือขายมากจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในปี 2561 จะทยอยถูกดูดซับไป
นายปริญญา พัฒนภักดี ประธานกรรมการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (ศขอ.) เปิดเผยว่า ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์จะยกระดับบทบาทให้เป็น “ศูนย์อสังหาริมทรัพย์แห่งชาติ” โดยปีนี้จะพัฒนาระบบข้อมูล สร้างความเชื่อมโยงข้อมูลให้เป็นบิ๊กดาต้าสามารถนำมาใช้วิเคราะห์ได้หลากหลายมิติ และต้องทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่เป็น Benefits Center โดยข้อมูลที่พัฒนาต้องพร้อมใช้งานและเป็นที่ต้องการของหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ธปท. หน่วยงานอื่น ๆ และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งความคืบหน้าขณะนี้จะมีการพูดคุยในระดับกรรมการ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คาดกันยายนปี 2564 จะเห็นกรอบการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมและชัดเจนมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย