นครราชสีมา 9 ม.ค.-ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกับทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัย Tokyo University of Marine Science and Technology จาก ประเทศญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จ สามารถสร้างพ่อ-แม่พันธุ์ปลาสวายเผือกอุ้มบุญลูกปลาบึกได้
รศ.ดร.สุรินทร บุญอนันธนสาร หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสัตว์ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. เปิดเผยว่า ภาวะแห้งแล้งทำให้ปลาธรรมชาติลดลง ปลาหลายชนิดใกล้สูญพันธุ์ จึงพัฒนาเทคนิคการปลูกถ่ายเซลล์สืบพันธุ์ในปลา สร้างพ่อ-แม่พันธุ์ปลาสวายที่สามารถอุ้มบุญลูกปลาบึก เพื่อลดข้อจำกัดในการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ
ที่เลือกปลาทั้ง 2 ชนิดนี้ เนื่องจากปลาบึกเป็นปลาที่พบตามธรรมชาติในลุ่มแม่น้ำโขง เป็นปลาขนาดใหญ่ที่มีข้อจำกัดในการใช้พื้นที่ในการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ และมีจำนวนลดลง ส่วนปลาสวายเป็นปลาใกล้เคียงกับปลาบึก เพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย
โดยสกัดเอาเสต็มเซลล์ จากอวัยวะสืบพันธุ์ปลาบึก มาปลูกถ่ายในลูกปลาสวายเผือกวัยอ่อนอายุ 4-5 วัน จากนั้นก็เลี้ยงปลาสวายเผือกจนเป็น พ่อ-แม่ พันธุ์ นำมาเพาะขยายพันธุ์ในบ่ออนุบาล ทั้งนี้ ในธรรมชาติปลาสวายเผือก จะให้ลูกปลาสวายที่มีสีขาวอมแดงทั้งหมด ซึ่งถ้าพ่อแม่พันธุ์ปลาสวายที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์สืบพันธุ์จากปลาบึก จะให้ลูกปลาที่มีสีเทาดำ (สีปกติของปลาบึก) รวมอยู่ในครอกเดียวกัน จึงสังเกตได้ชัดเจนว่า ปลาสวายเผือกได้อุ้มบุญปลาบึกเป็นผลสำเร็จ และกำลังพัฒนาให้สามารถอุ้มบุญลูกปลาบึกได้ 100% ในอนาคต
ทั้งนี้ เกษตรกรและผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการการปลูกถ่ายเซลล์สืบพันธุ์ในปลาหรือปลาสวายอุ้มบุญได้ ในงานเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 10 -19 มกราคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา.-สำนักข่าวไทย