กรุงเทพฯ 3 ม.ค. – คมนาคมลุยถกหน่วยงานเสนอคำของบปี 64 แล้ว ที่วงเงิน 5.14 แสนล้าน ด้าน รฟท. ขอมากสุด 9.09 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 570% จากงบปี 63 ที่ได้รับ พร้อมเข็นรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย–เส้นทางรถไฟสายใหม่ จ่อสรุป 14 ม.ค. 63 ก่อนเสนอ ครม. 21 ม.ค.นี้
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ของหน่วยงานในสังกัดฯ 8 ส่วนราชการ 6 รัฐวิสาหกิจว่า สำหรับวงเงินคำของบประมาณประจำปี 2564 เบื้องต้นอยู่ที่วงเงิน 514,535.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากคำขอปี 2563 วงเงิน 68,591.68 ล้านบาทหรือ 15.38% โดยในวงเงินดังกล่าว ประกอบด้วย งบประจำ 124,105.10 ล้านบาท และงบลงทุน 390,430.06 ล้านบาท แบ่งเป็นทางบก 340,283.25 ล้านบาท (66.13%) ทางราง 141,121.49 ล้านบาท (27.43%) ทางน้ำ 18,859.90 ล้านบาท (3.67%) ทางน้ำ 12,597.60 ล้านบาท (2.45%) และด้านนโยบาย 1,672.92 ล้านบาท (0.33%)
สำหรับหน่วยงานที่เสนอคำของบประมาณปี 2564 มากที่สุด คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่เสนอขอจำนวนเงินทั้งสิ้น 90,955.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2563 ที่ได้รับอยู่ที่ 13,574.90 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 77,380.29 ล้านบาท คิดเป็น 570.02% โดยวงเงินที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวนั้น สืบเนื่องจากมีโครงการชำระหนี้เงินกู้ในโครงการต่างๆ วงเงิน 37,369.82 ล้านบาท
สำหรับแผนการดำเนินการโครงการสำคัญ เช่น โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต–มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ–พญาไท–มักกะสัน–หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ–หัวลำโพง, โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่–มหาสารคาม–ร้อยเอ็ด–มุกดาหาร–นครพนม, โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย–เชียงราย–เชียงของ เป็นต้น
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานไปดำเนินการปรับปรุงรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม และยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงแผนพัฒนาพื้นที่ให้ตรงความต้องการที่แท้จริงของพื้นที่ และเกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่ โครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาทนั้น ให้นำแผนการดำเนินการ 6 มิติมาประกอบการพิจารณา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา และส่งผลกระทบต่อประชาชน รวมถึงเกิดความล่าช้าขึ้นในอนาคต อีกทั้ง ให้พิจารณาความพร้อมของแต่ละโครงการ พร้อมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) มาบริหารโครงการ เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จากนั้นจะสรุปคำของบประมาณดังกล่าวในวันที่ 14 ม.ค. 2563 ก่อนเสนอไปยังสำนักงบประมาณ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 ม.ค.นี้
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานพิจารณาแผนด้านบุคลากร ให้สอดคล้องกับที่หน่วยงานได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงานด้านต่างๆ เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมถึงการจัดสรรงบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ให้สอดคล้องและเพียงพอกับโครงการสำคัญต่างๆ สร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ทั้งก่อนดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และหลังดำเนินการโครงการ ขณะเดียวกัน มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ไปแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณคอขวด ทั้งในส่วนของถนน และสะพาน พร้อมทั้งการพิจารณาโครงการของ ทล. และ ทช. ให้เชื่อมต่อกับการคมนาคมทางน้ำ และทางราง
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ในส่วนของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้มีโครงการปรับปรุงท่าอากาศยานเร่งด่วน ได้แก่ งานก่อสร้างเสริมความแข็งแรงทางวิ่ง ก่อสร้างทางขับขนาน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน ท่าอากาศยานสุราษฏร์ธานี งบประมาณ 800 ล้านบาท เพื่อที่จะรองรับอากาศยานขึ้นลงได้จาก 10 ลำ เป็น 20 ลำต่อชั่วโมง, โครงการพัฒนาท่าอากาศยานบุรีรัมย์ งานก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง ทางขับ และลานจอดเครื่องบินใหม่ พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน งบประมาณ 900 ล้านบาท สำหรับการขยายความยาวทางวิ่งจาก 2,100 เป็น 2,990 เมตร อาคารคลังสินค้า (คาร์โก้) ลานจอดอากาศยานขนสินค้า และลานจอดรถบรรทุกขนสินค้า
นอกจากนี้ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ก่อสร้างขยายความยาวทางวิ่ง งบประมาณ 1,200 ล้านบาท เป็นการขยายทางวิ่ง จาก 2,100 เมตร เป็น 2,500 เมตร, โครงการพัฒนาท่าอากาศยานตรัง ก่อสร้างขยายความยาวทางวิ่งและอุโมงค์รถไฟลอดใต้ทางวิ่ง งบประมาณ 1,800 ล้านบาท ขยายทางวิ่งจาก 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร,โครงการพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่น งานขยายลานจอดเครื่องบิน งบประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อรองรับอากาศยานขนาด 150 ที่นั่งจาก 5 ลำ เป็น 11 ลำ, โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเลย งานก่อสร้างที่พักอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ พร้อมอาคารประกอบอื่นๆ งบประมาณ 955 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยรองรับผู้โดยสารได้ 3.4 ล้านคนต่อปี หรือ 1,200 คนต่อ ชม.
ทั้งนี้ ในส่วนของกรมเจ้าท่า (จท.) มีโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการก่อสร้างและจัดหาระบบตรวจการณ์ชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างและอันดามัน (VTS ระยะที่ 3) พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง และชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยจะของบกลางปี 63 ประมาณ 881 ล้านบาท เพื่อกำกับดูแลความปลอดภัยในการเดินเรือ ป้องกันอุบัติเหตุทางทะเลตามพันธกิจของกรมเจ้าท่า ในการตรวจการณ์ชายฝั่ง ในน่านน้ำไทย ตามนโยบายรับบาล และเพื่อรองรับการตรวจจากองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMV) ที่จะเข้ามาตรวจในเดือน ก.พ.64 .- สำนักข่าวไทย