กทม.26 ธ.ค.-ผอ.สำนักการคลัง แจงหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ข้อยุติเกี่ยวกับประเภทการใช้ประโยชน์เพื่ออยู่อาศัย พร้อมแจ้งแนวทางให้ กทม.ทราบแล้ว จึงสามารถแก้ไขประกาศและบัญชีรายการได้ โดยประชาชน ไม่ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไข ณ เขตพื้นที่
นายธรรมรัตน์ มุกมีค่า ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงกรณีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมออกประกาศยกเว้นแจ้งประเภทที่อยู่อาศัย และให้จดหมายการแจ้งบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งส่งไปยังประชาชนเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเป็นโมฆะนั้น ขอเรียนชี้แจงว่า กรุงเทพมหานครได้ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ในคู่มือปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ซึ่งได้จัดทำโดยกลุ่มงานนโยบายการคลังและพัฒนารายได้ สำนักบริหารการคลังท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำหรับกรณีประกาศบัญชีรายการที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและห้องชุดที่ กรุงเทพมหานครได้ประกาศ พร้อมทั้งแจ้งบัญชีรายการไปยังเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่ละรายทราบนั้น กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ ย่อมมีผลผูกพันตามกฎหมายและไม่เป็นโมฆะแต่อย่างไร
โดยในส่วนของประเภทการใช้ประโยชน์ประเภทที่อยู่อาศัยที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ หากประชาชนตรวจสอบบัญชีรายการแล้วพบว่า ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง สามารถยื่นคำร้องขอแก้ไขบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง ดังนี้
1.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบพบว่าบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจสั่งแก้ไขบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562
2.ผู้เสียภาษีตรวจสอบรายการข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของตนเองแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้อง เช่น ขนาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือลักษณะการใช้ประโยชน์ ไม่ตรงตามความเป็นจริง ให้ยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อขอแก้ไขบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และให้ผู้บริหารท้องถิ่นดำเนินการ ดังนี้
1)มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานสำรวจดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ให้เจ้าพนักงานสำรวจรายงานให้ผู้บริหารท้องถิ่นทราบ 2)เจ้าพนักงานสำรวจแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 3)แจ้งผลการดำเนินการให้ผู้เสียภาษีทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องจากผู้เสียภาษี
ทั้งนี้ หากกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยได้ข้อยุติเกี่ยวกับประเภทการใช้ประโยชน์เพื่ออยู่อาศัย โดยเวียนแจ้งแนวทางปฏิบัติให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (รวมถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ) กรุงเทพมหานครสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ในการแก้ไขประกาศและบัญชีรายการที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุดได้ โดยประชาชนไม่ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไข ณ สำนักงานเขต
ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครได้ดำเนินจัดส่งแบบแจ้งรายการห้องชุด (ภ.ด.ส.4) ไปยังเจ้าของห้องชุดในพื้นที่กรุงเทพมหานครแล้ว ขอให้เจ้าของห้องชุดที่ได้รับเอกสารแจ้งข้อมูลรายการห้องชุด ตรวจสอบข้อมูล เช่น ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ ชื่ออาคารชุด เลขที่ห้อง พื้นที่ และลักษณะการใช้ประโยชน์ เป็นต้น หากพบว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง ขอให้เจ้าของห้องชุดยื่นคำร้องขอแก้ไขแบบรายการให้ถูกต้อง โดยสามารถติดต่อด้วยตนเองที่ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขตพื้นที่ที่ห้องชุดนั้นตั้งอยู่ หรือหากไม่สะดวกมาติดต่อที่สำนักงานเขต สามารถสแกนคิวอาร์โค้ด (QR code) ด้านหลังซองจดหมายเพื่อทำการขอแก้ไขบัญชีรายการห้องชุด (ภ.ด.ส.4) อนึ่ง QR code ที่อยู่ด้านหลังของจดหมาย จะไม่สามารถใช้ทำการแก้ไขบัญชีรายการข้ามเขตได้ หมายถึง หากบุคคลใดมีห้องชุดหรือคอนโดมิเนียมมากกว่า 1 ห้องและอยู่ในหลายพื้นที่เขต ต้องใช้ QR code ของจดหมายเขตนั้นๆ ในการยื่นแก้ไขบัญชีรายการ หรือสามารถจัดส่งแบบคำร้องขอแก้ไขทางไปรษณีย์ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่ที่ห้องชุดนั้นตั้งอยู่
ทั้งนี้ การขอแก้ไขขอให้จัดส่งเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วน เช่น สำเนาหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด สำเนาทะเบียนบ้าน เป็นต้น ตั้งแต่บัดนี้ถึงสิ้นเดือน มี.ค.63 สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามการใช้ประโยชน์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทต่าง ๆ ประชาชนสามารถสืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย www.dla.go.th เว็บไซต์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง www.fpo.go.th และราคาประเมินห้องชุดจากเว็บไซต์ของกรมธนารักษ์ http://property.treasury.go.th/pvmwebsite
ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับขั้นตอนดำเนินการเกี่ยวกับการสำรวจที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุดในเขตกรุงเทพมหานคร และการจัดทำประกาศบัญชีรายการที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด พร้อมทั้งจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียภาษีแต่ละรายทราบนั้น ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้ 1. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 2146/2562 ลงวันที่ 2 ก.ย.62 เรื่อง แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตามกฎหมายว่าด้วยภาษีดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยได้แต่งตั้งพนักงานสำรวจ พนักงานประเมิน และพนักงานเก็บภาษี ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
2. กรุงเทพมหานครได้ประกาศกำหนดระยะเวลาในการสำรวจที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด ในเขตกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.62 เป็นต้นไป ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
3. ภายหลังจากพนักงานสำรวจได้ดำเนินการสำรวจที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุดแล้วเสร็จ กรุงเทพมหานครได้จัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภ.ด.ส.3) และห้องชุด (ภ.ด.ส.4) พร้อมทั้งจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียภาษีแต่ละรายทราบ ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
4. กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการคลัง ได้จัดให้มีการสัมมนาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับเจ้าหน้าที่กองรายได้ สำนักการคลัง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายรายได้ทุกสำนักงานเขต โดยแบ่งการสัมมนาออกเป็น 3 รุ่นๆ ละ 200 คน ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและผู้แทนกรมธนารักษ์มาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการ ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ซึ่งผู้แทนกรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่นได้ตอบข้อซักถามในที่ประชุมเกี่ยวกับการพิจารณาประเภทการใช้ประโยชน์ของเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดหลายห้องว่าควรเป็นประเภทใด และผู้แทนกรมส่งเสริมฯ ได้ตอบข้อซักถามโดยให้เหตุผลว่า เพื่อประโยชน์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีดังกล่าวเห็นควรกำหนดเป็นประเภทอื่นๆ ไปก่อน เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบแล้ว นำเอกสารหลักฐานมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขอแก้ไขบัญชีรายการที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและห้องชุด โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ใช้เป็นแนวทางและถือปฏิบัติ .-สำนักข่าวไทย