รัฐสภา 27 พ.ย.-บรรยากาศการประชุม กมธ.ป.ป.ช. วุ่นอีก “ปารีณา” ลากเก้าอี้เสียบข้าง “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ขณะ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ดุ “ปารีณา” ใช้โทรศัพท์ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมฯ มีมติ 7 ต่อ 2 เสียง ไม่เห็นด้วยนำเรื่องปลด “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” มาพิจารณาในที่ประชุม ด้าน “สิระ” เตรียมยื่นร้อง ป.ป.ช.เอาผิด “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่เปิดการประชุมคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ได้ทักท้วง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานกรรมาธิการฯ ว่า ไม่ควรให้ผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการฯ นั่งข้าง ๆ ประธานกรรมาธิการฯ เพราะตำแหน่งที่ควรนั่งข้างประธานกรรมาธิการฯ ควรเป็นรองประธานกรรมาธิการฯ มากกว่า
บรรยากาศในที่ประชุมฯ จึงเกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง โดย น.ส.ปารีณา อ้างตามธรรมเนียมปฏิบัติว่าตำแหน่งที่ปรึกษา ต้องนั่งต่อจากกรรมาธิการฯ แต่กรรมาธิการคนอื่นไม่ถือสา โดยให้พิจารณาจากความอาวุโสทางการเมืองมากกว่า ทำให้ น.ส.ปารีณา กล่าวว่า จะให้ ส.ส.สอบตก นั่งตรงนั้นไม่ได้ เนื่องจากไม่ให้เกียรติกรรมาธิการคนอื่น กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐสภาได้ชี้แจงว่าตามระเบียบข้อบังคับไม่มีกำหนดไว้ว่าใครจะต้องนั่งตรงไหน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จึงตัดบทว่า ใครจะนั่งตรงไหนก็ได้ ทำให้ น.ส.ปารีณา กล่าวว่า ตนขอไปนั่งข้างประธานกรรมาธิการฯ แล้วลุกขึ้นทันที โดยนำกระเป๋าไปวางข้าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แล้วเดินไปลากเก้าอี้ มานั่งหัวโต๊ะข้าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แบบแนบชิด ซึ่ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวกับสื่อมวลชนว่า “เอ้า นักข่าวถ่ายหน่อย ผมได้นั่งใกล้คนสวย อย่ากอดผมแล้วกันน่ะ”
จากนั้น คณะกรรมาธิการฯ ได้ดำเนินการประชุมเพื่อเดินหน้าปลด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แต่ประชุมต่อได้ไม่นาน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็หันไปต่อว่า น.ส.ปารีณา ว่า กำลังพิมพ์อะไรบางอย่างในโทรศัพท์เพื่อรายงานใคร ทำให้ น.ส.ปารีณา ชี้แจงว่า “ดิฉันกำลังเซิร์สกุเกิ้ลข่าวนายชวน หลีกภัย ปลด เสรีพิศุทธ์ อยู่ค่ะ” บรรยากาศจึงวุ่นวายขึ้นมาอีกครั้ง โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ถามหาข้อบังคับว่า ห้ามใช้เครื่องมือสื่อสารในห้องประชุมด้วยหรือไม่ ถ้าเกิดไม่หยุดใช้โทรศัพท์ จะฟ้องนายชวน เพราะรบกวนโสตประสาทการทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการฯ ขณะที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ กล่าวหา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ว่า ที่รบกวนโสตประสาท เพราะไม่ได้มองจอโทรศัพท์ของ น.ส.ปารีณา แต่มองอย่างอื่นของ น.ส.ปารีณา
ก่อนที่ประชุมกรรมาธิการฯ จะเข้าสู่วาระการประชุม โดยพิจารณาจากข้อกฎหมายว่าจะปลด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้หรือไม่ โดย ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลได้เสนอให้ทำเรื่องถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่ากรรมาธิการสามารถลงมติปลดประธานกรรมาธิการฯ ได้หรือไม่ แต่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ตัดบทให้คณะกรรมาธิการฯ ลงมติว่าจะสามารถพิจารณาปลด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ หรือไม่
โดยที่ประชุมกรรมาธิการฯ มีมติ 7 ต่อ 2 เสียง ไม่เห็นด้วยที่จะนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาในที่ประชุม แต่ให้นายสิระ ไปดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งหนึ่งในบุคคลที่ลงมติเสียงข้างมากนั้น มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ด้วย ขณะที่ 2 เสียงข้างน้อย คือ นายสิระ และ น.ส.ปารีณา ส่วนกรรมาธิการคนอื่น ๆ งดออกเสียง
อย่างไรก็ตาม ช่วงก่อนที่จะมีการลงมติ นายสิระ ได้กล่าวชวนกรรมาธิการในสัดส่วนของรัฐบาลให้ Walk Out แต่ไม่มีกรรมาธิการคนใดสนับสนุน โดยในวันที่ 2 ธันวาคม 2562 นายสิระ จะเดินทางไปยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีใช้คำสั่งเรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีมติที่ประชุม รวมทั้งการแต่งตั้งที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการฯ โดยมิชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการลงมติเสียงข้างมาก จำนวน 7 เสียง ประกอบด้วย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ , นายนิรันดร์ นาเมืองรักษ์ ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย , นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย , นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ , น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย , นายวิทยา ทรงคำ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และ นายจุลพันธ์ โนนศรีชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ขณะที่ในการประชุมกรรมาธิการฯ มีผู้ลาการประชุม 1 คน คือ นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี พรรคอนาคตใหม่.-สำนักข่าวไทย