กรุงเทพฯ 8 พ.ย.-พลิกแล้ว! คดีกระทงเด็ก 15 ที่โคราช จากถูกจับลิขสิทธิ์ กลายเป็นผู้เสียหาย สามารถฟ้องอาญาและแพ่งได้ หลังผู้เชี่ยวชาญลิขสิทธิ์เข้าให้ข้อมูล รอง ผบ.ตร. ยืนยันกระทงไม่เหมือน “ริลัคคุมะ” ยืนยันเป็นเจ้าเดียวในไทยที่ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นให้ดูแลผลประโยชน์ ไม่ใช่ “ประจักษ์ โพธิผล”
พลตำรวจเอกวิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นำเอกสารหลักฐานมาชี้แจงต่อสื่อมวลชน หลังตัวแทนบริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์จำหน่ายสินค้าของบริษัท ซาน-เอ็กซ์ จำกัด บริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น, ฝ่าย กม. และผู้บริหาร เข้าพบหารือ โดยยืนยันว่ากระทงของเด็กอายุ 15 ปี ที่ จว.นครราชสีมา ไม่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์
เนื่องจากตรวจสอบแล้ว กระทงดังกล่าวไม่มีความเหมือนหรือคล้ายตัวการ์ตูน “ริรัคคุมะ” ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท ซาน-เอ็กซ์ แต่อย่างใด โดยไม่เหมือนทั้งใบหน้า หู ตา และปาก เป็นแค่กระทงรูปหมีธรรมดา ทำให้เด็กอายุ 15 ปี กลับกลายเป็นผู้เสียหาย สามารถฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งและอาญา กับ นายประจักษ์ โพธิผลได้ รวมถึง ได้รับเงินค่าชดเชยกับการถูกดำเนินคดี
รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันด้วยว่า บริซัทเวอร์รีเซค ไม่ใช่ตัวแทนของบริษัทแซนเอ็กซ์แล้ว ส่วนนายประจักษ์ จะเข้าข่ายกรรโชกทรัพย์ ตีกิน หรือแจ้งความเท็จหรือไม่ ยังไม่สามารถระบุได้ ต้องรอการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดก่อน แต่จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท เวอร์ริเซ็ค ไม่ใช่ตัวแทนลิขสิทธิ์ของบริษัท ซาน-เอ็กซ์ฯ แล้ว
ส่วนตำรวจที่ร่วมจับกุม กรณีเด็กหญิงอายุ 15 ปี ตรวจสอบแล้วพบว่า ดำเนินการไปตามขั้นตอน หลังรับแจ้งจากผู้ร้อง พร้อมยืนยัน หลังจากนี้ จะต้องไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์ในลักษณะนี้อีก โดยกำชับให้ตำรวจทุกพื้นที่ ตรวจสอบเอกสารหลักฐานตัวแทนลิขสิทธิ์ให้ถี่ถ้วนมากกว่านี้
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการของบริษัท ที.เอ.ซี. ซึ่งเป็นบริษัทเดียว ที่ได้รับมอบอำนาจจากบริษัท ซาน-เอ็กซ์ฯ หากได้รับแจ้งมีการละเมิดลิขสิทธิ์ จะออกจดหมายเตือนก่อนถึง 2 ครั้ง หากไม่มีการแก้ไข จึงจะส่งตัวแทนดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งจากนี้ จะมีการดำเนินคดีกับนายประจักษ์ หรือ บริษัท เวอร์ริเซ็ต หรือไม่ เป็นเรื่องของคู่กรณี .-สำนักข่าวไทย