กรุงเทพฯ 10 ต.ค. – ธนาคารโลกเผยส่งออกหดตัวร้อยละ 5.3 ฉุดจีดีพีไทยปีนี้โตต่ำร้อยละ 2.7 แนะรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
นายแอนดรู เมสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ธนาคารโลก เปิดเผยรายงาน “East Asia and Pacific Economic Update ฉบับเดือนตุลาคม 2562 ว่า ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2562 เหลือโตร้อยละ 2.7 จากเดิมโตร้อยละ 3.5 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตต่ำสุดในประเทศกำลังพัฒนาภูมิภาคอาเซียน ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2563 โตร้อยละ 2.9 จากเดิมร้อยละ 3.6
สำหรับสาเหตุที่ธนาคารโลกปรับจีดีพีไทยลดลง เนื่องมาจากหลายปัจจัยโดยเฉพาะการส่งออกที่ลดลงในช่วงครึ่งปีแรกหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ทำให้การส่งออกของไทยปี 2562 หดตัวถึงร้อยละ 5.3
นอกจากนี้ ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี กระทบรายได้เกษตรกรลดลง ทำให้การบริโภคในประเทศอ่อนแอ ส่วนอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐต่ำมีผลให้การบริโภคภาครัฐขยายตัวเพียงร้อยละ 1.7 ในปีนี้
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ออกมาถือว่ามาทันเวลา เพราะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง ขณะที่การส่งออกหดตัวมากกว่าคาด ซึ่งรัฐบาลยังสามารถจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้อีก เพราะหนี้สาธารณะของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยควรเน้นมาตรการที่เข้าถึงผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง
ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย คือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะความเหนียวแน่นของพรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรค ความล่าช้าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค ซึ่งกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศลดลง นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ทำให้การส่งออกไทยอ่อนแอลงไปอีกและบั่นทอนการลงทุนเอกชน รวมทั้งเงินบาทของไทยที่แข็งค่าสุดในภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรเพื่อหาที่หลบภัย หากเงินบาทยังแข็งค่าต่อไปจะเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย.-สำนักข่าวไทย