วสท.8 ต.ค.-วสท.ระดมวิศวกรอาสา ใช้แอปพลิเคชันและดาวเทียม ลงพื้นที่ จ.อุบลฯ ตรวจสอบบ้านหลังน้ำท่วม 9–12 ต.ค.นี้
จากเหตุการณ์น้ำท่วมใน จ.อุบลราชธานี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.)เตรียมความพร้อมวิศวกรอาสา ระดมลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานีเข้าตรวจสอบอาคารหลังอุทกภัย ในวันที่9–12 ต.ค.62 เพื่อช่วยเหลือตรวจสอบทั้งด้านโยธา ระบบไฟฟ้า ประปา สุขาภิบาล และอื่นๆ อาทิ อาคารบ้านเรือน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล ให้เกิดความปลอดภัยและคืนสู่ สภาพเดิมอีกครั้ง
นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชู ปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุโพดุลและพายุคาจิกิเมื่อเร็วๆ นี้ รวมทั้งสิ้น 32 จังหวัด ถึงแม้สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดจะคลี่คลายลงแล้วแต่ยังมี 4 จังหวัดที่ยังคงได้รับผล กระทบอยู่ ได้แก่ จ.อุบลราชธานี ,ยโสธร, ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ ถูกจัด ลำดับให้เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยระดับ 3 จาก 4 ระดับ ซึ่งเพียงแค่ จ.อุบลราชธานี มีบ้านเรือนได้รับความเสียหายทั้งหลังกว่า 400 หลังคาและบางส่วนกว่า 5,000 หลังคา ยังมีประชาชนอีกมากที่ยังไม่สามารถเข้าอยู่ในบ้านได้ การสนับสนุนจาก วสท.และเครือข่ายวิศวกรอาสาก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
‘กำหนดลงพื้นที่9-12ต.ค.นี้ นำองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านวิศวกรรมจากวิศวกรอาสา เตรียมพร้อมช่วยเหลือดูแลจัดการตรวจสอบโครงสร้างสภาพอาคาร ความปลอดภัยและให้คำแนะนำ มอบขวัญกำลังใจให้กับประชาชนคนไทยที่ได้รับผลกระทบ ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและเป็นปกติสุขกันอีกครั้ง’ นายธเนศ กล่าว
สำหรับขั้นตอน เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่ใช้ตรวจสอบบันทึกข้อมูลอาคารบ้านเรือนในพื้นที่หลังน้ำท่วมครั้งนี้ ประกอบด้วย โปรแกรมHandy GPS Free , Google Mind Map และGoogle Form เพื่อสำรวจสถานการณ์ในแต่ละจุดว่ามีสภาพเป็นอย่างไร อาคารเป็นอย่างไร โดยวิศวกรผู้ลงพื้นที่ จะส่งข้อมูลภาพ ข้อความและวิดีโอที่บันทึกได้ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือสมาร์ทโฟนได้ทันที ซึ่งข้อมูลต่างๆ จะรวมกันออกมาเป็น Google Map โดยทำการเชื่อมต่อข้อมูลจากดาวเทียมบราด้าแซท (Brada) ซึ่งเป็นดาวเทียมรายงานสดสภาพอากาศด้วยภาพ (Live Satellite Weather Image) รวมกับข้อมูลที่มีอยู่แล้ว แปลผลจากการประมวลผลภาพ (Digital Image Processing) ให้ทีมวิศวกรที่ศูนย์บัญชาการในพื้นที่วินิจฉัยได้ทันที โดยวิศวกรผู้ทำการตรวจสอบจะแจ้งผลให้เจ้าของบ้านทราบพร้อมคำแนะนำ ซึ่งผลการประเมินจะแทนค่าด้วยสี แบ่งเป็น 3 ระดับ สีเขียว หมายถึง สภาพอาคารบ้านเรือนที่ปลอดภัย, สีเหลือง ต้องมีการซ่อมแซม และสีแดง หมายถึงเสี่ยงอันตราย ห้ามเข้าอยู่อาศัย หรือใช้พื้นที่อาคารนั้น
ด้านนายสมจิตร์ เปี่ยมเปรมสุข เลขาธิการ วสท.กล่าวว่า การลงพื้นที่ช่วยประชาชนตรวจสอบประเมินสภาพบ้านอาคารนั้น วิศวกรอาสาจะใช้แบบ ฟอร์มการตรวจสอบโครงสร้างอาคารและงานระบบ โดยมีสาระสำคัญคือการระบุถึงลักษณะของอาคาร เพื่อใช้ประเมินลักษณะรูปแบบโครงสร้าง วัสดุหลักที่ใช้ในการก่อสร้าง จำนวนชั้น การใช้งานอาคารและอื่นๆ รวมถึงการประเมินจากลักษณะภูมิประเทศที่จะสามารถบ่งบอกถึงความเสียหายของตัวอาคารได้ และก่อนเข้าตรวจสอบพื้นที่นั้น ต้องมั่นใจว่าโครงสร้าง ไม่อยู่ในสภาพเสี่ยงอันตราย มีภาวะไฟรั่วหรือไม่ สภาพการวิบัติของตัวอาคารหรือรอยแตกร้าวที่เกิดขึ้นนั้น มีผลกระทบกับโครงสร้างหรือไม่ .-สำนักข่าวไทย
