ตลท. 8 ต.ค. – “อินฟราเซท” เข้าซื้อขายวันแรกตลาดเอ็มเอไอ เปิดตลาด 2.94 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท หรือ 9.29% จากราคา IPO 2.69 บาทต่อหุ้น
นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า mai ยินดีต้อนรับ บมจ. อินฟราเซท เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายใน mai ภายใต้กลุ่มเทคโนโลยี โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “INSET” วันที่ 8 ตุลาคม 2562
INSET มีทุนชำระแล้ว 280 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วย หุ้นสามัญเดิม 414 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 146 ล้านหุ้น เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) แบ่งเป็นเสนอขายต่อกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน 14.6 ล้านหุ้น ผู้มีอุปการคุณของบริษัท 16.9 ล้านหุ้น ผู้ลงทุนสถาบัน 1.85 ล้านหุ้น และบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 112.65 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 27, 30 กันยายน และวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ราคา 2.69 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 392.74 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 1,506.4 ล้านบาท ทั้งนี้ ราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) เท่ากับ 13.70 เท่า โดยคำนวณจากผลประกอบการของบริษัทในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา (ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562) ซึ่งเท่ากับ 109.95 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.20 บาท โดยมีบริษัทที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เป็นผู้นำการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
นายศักดิ์บวร พุกกะณะสุต กรรมการผู้จัดการ บมจ.อินฟราเซท กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่หุ้น INSET ที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) วันแรกเหนือจองเกือบ 10% พร้อมมองว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่มีการขยายตัวโดดเด่นมากทุกปี จากการที่ภาครัฐให้การสนับสนุน และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสื่อสารจากระบบ 4G เป็น 5G
ทั้งนี้ INSET ถือว่าเป็นผู้ประกอบการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่มีการดำเนินการแบบครบวงจรเพียงรายเดียวในตลาดหลักทรัพย์ mai และที่ผ่านมาสามารถรักษาอัตราการเติบโตได้ปีละ 10-20% ,ขณะเดียวกันมีงานในมือรอรับรู้รายได้กว่า 2,700 ล้านบาท โดยจะทยอยรับรู้ต่อเนื่องในช่วง 3 ปีนับจากนี้ ประกอบด้วย งานโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน กทม.และงานบำรุงรักษาโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (โซน C) หรือ USO ทั้ง Phase 1 และ 2 เป็นต้น
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในช่วง 4-5 ปี หลังจากนี้เชื่อว่าจะมีงานออกมาเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ ขณะที่ภาครัฐต้องการจะผลักดันระบบโครงข่าย เพื่อกระจายความเจริญไปทั่วประเทศ ทำให้บริษัทฯ ได้รับงานต่อเนื่องช่วยสนับสนุนผลประกอบการให้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้
นายศักดิ์บวร กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 577.69 ล้านบาท กำไรสุทธิ 46.57 ล้านบาท และอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 8.06% ขณะที่โครงสร้างรายได้หลักมาจากธุรกิจก่อสร้างศูนย์ข้อมูลและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ 88% ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายโทรคมนาคม 10% งานซ่อมบำรุงและบริการ อื่น ๆ 2% ขณะเดียวกันบริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้งานซ่อมบำรุงและบริการให้แตะระดับ 10% เนื่องจากจะเป็นส่วนที่สร้างรายได้ประจำสม่ำเสมอหรือ Recurring income เพื่อสนับสนุนให้บริษัทฯมีการเติบโตอย่างมั่นคง . – สำนักข่าวไทย