กรุงเทพฯ 2 ต.ค. – สทนช.ส่งสัญญาณข่าวดีชาวบ้าน อ.วารินฯ เตรียมกลับเข้าบ้าน หลังประเมินระดับน้ำสถานี M.7 ต่ำกว่าระดับตลิ่งวันพรุ่งนี้ พร้อมส่งหนังสือด่วนถึง 5 กระทรวงหลักเตรียมการรับภัยแล้งต่อ เล็งเสนอ ครม.เข้มแผนจัดสรรน้ำ-มาตรการป้องผลกระทบล่วงหน้า
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำมูล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้มีการปรับลดการระบายน้ำในลำน้ำชี ลำน้ำมูล ตอนบน ลำเซบาย และลำเซบก เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ประกอบกับการเร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูลตอนล่างออกสู่แม่น้ำโขง ส่งผลให้ระดับน้ำที่สถานี M.7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.วารินชำราบ ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกันคงเหลือมวลน้ำประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ คาดว่าระดับน้ำจะต่ำกว่าตลิ่ง อ.วารินชำราบ วันพรุ่งนี้ ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณริมน้ำมูล อ.วารินชำราบ สามารถกลับเข้ายังบ้านเรือนของตนเองได้ เพื่อสำรวจความเสียหายและรับการฟื้นฟูเยียวยาโดยเร่งด่วนต่อไป
“จากการติดตามสถานการณ์น้ำในลำน้ำมูลตอนล่างบริเวณ จ.อุบลราชธานี พบว่าระดับน้ำเริ่มมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง อาทิ สถานี M.176 อ.กันทรารมย์ ต่ำกว่าตลิ่ง 4.66 เมตร สถานี E.98 อ.เขื่องใน ต่ำกว่าตลิ่ง 0.29 เมตร สถานี M.7 อ.วารินชำราบ สูงกว่าตลิ่ง 0.47 เมตร อัตราการไหล 2,581 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เทียบจากเมื่อวาน นี้ระดับน้ำ 7.8 เมตร อัตราการไหล 2,878 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แนวโน้มลดลง 35 – 40 เซนติเมตร และสถานีโขงเจียมก่อนออกสู่แม่น้ำโขง ระดับน้ำ 94.34 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 9.19 เมตร และเมื่อเทียบสถานี M.7 ต่ำกว่าถึง 18.13 เมตร” นายสมเกียรติ กล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมการมาตรการป้องกันภัยแล้งว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมน้ำในฤดูแล้งให้มีเพียงพอตลอดทั้งฤดูกาลและมั่นคงต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2562/2563 มีการจัดสรรน้ำอย่างเหมาะสมครอบคลุมกิจกรรมทุกด้าน โดยคาดการณ์ปริมาณน้ำช่วงสิ้นฤดูฝนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 มีน้ำใช้การได้รวม 35,972 ล้าน ลบ.ม. ในเขตชลประทาน 27,399 ล้าน ลบ.ม. นอกเขตชลประทาน 8,573 ล้าน ลบ.ม. แบ่งออกเป็น 5 กิจกรรม ได้แก่ อุปโภค-บริโภค 2,703 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 7% , รักษาระบบนิเวศ 7,161 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 20% , สำรองน้ำต้นฤดูฝน (อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่) 9,969 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 28%, เกษตรกรรม 1,551 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 43% แบ่งเป็นในเขตชลประทาน 9,937 ล้าน ลบ.ม. นอกเขตชลประทาน 5,644 ล้าน ลบ.ม. และอุตสาหกรรม 558 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 2% นั้น
ขณะนี้ สทนช.ได้ทำหนังสือถึง 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินปริมาณการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งจัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้สอดคล้องกับการคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย โดยการประปาส่วนภูมิภาคและประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำข้อมูลประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบฤดูแล้งทั้งในเขตและนอกเขตการประปาส่วนภูมิภาค กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน และกรมส่งเสริมการเกษตร จัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/2563
ประกอบด้วย 1.แผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง รายจังหวัดทั้งประเทศ ทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติ 4 แห่ง ได้แก่ บึงบอระเพ็ด บึงสีไฟ หนองหาร และกว๊านพะเยา และแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/2563 ในเขตชลประทาน รายจังหวัดทั้งประเทศ 2.แผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562/63 รายจังหวัดทั้งประเทศ เพื่อให้มีการกำหนดพื้นที่ทำการเกษตรที่เหมาะสมและชัดเจน ลดการกระทบต่อการใช้น้ำในกิจกรรมด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะการอุปโภคบริโภค 3. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำจัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562/2563 นอกเขตชลประทาน รายจังหวัดทั้งประเทศ 4.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดทำแผนบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง และ 5.กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จัดทำแผนบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เป็นรายอ่างฯ ในฤดูแล้ง ปี 2562/2563
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กำกับดูแลการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามนโยบาย รวมถึงป้องกันและลดผลกระทบอย่างจริงจัง สทนช.จะรายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ การคาดการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ รวมถึงการเตรียมการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง รวมถึงมาตรการเตรียมรับมือต่าง ๆ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 8 ตุลาคมนี้ เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติทั้งระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงเร่งรัดหน่วยเกี่ยวข้องเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ หน่วยราชการในพื้นที่เกี่ยวข้อง กรรมการลุ่มน้ำ กลุ่มผู้ใช้น้ำ โดยเฉพาะเกษตรกรรับรู้สถานการณ์ล่วงหน้าก่อนลงทุนเพาะปลูกด้วย.-สำนักข่าวไทย