กรุงเทพฯ 9 กันยายน – นักวิจัย สวทช. คว้ารางวัลชนะเลิศงาน Falling Wall Lab Thailand 2019 ความก้าวหน้าวิทย์-สังคม จากการนำเสนอเรื่อง “Breaking the Wall of Bacterial Wilt Disease” การใช้ไวรัสควบคุมแบคทีเรียที่ก่อโรคในพืช โดยจะได้ไปร่วมงาน Falling Walls Conference ณ กรุงเบอร์ลิน เยี่ยมศูนย์วิจัยในยุโรป พร้อมขอเป็นตัวแทนพลังความคิด สร้างความเชื่อมโยง ความรู้ไบโอซิตี้ต่อยอดพัฒนาเกษตรกรรมทั่วโลก
อ่านข่าวภาษาอังกฤษ >> Thai researcher from NSTDA wins a Falling Wall Lab Competition
https://tna.mcot.net/view/5d763d60e3f8e40ad8361196
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน “Falling Walls Lab Thailand” ซึ่งงานนี้ริเริ่มโดยมูลนิธิ Falling Walls เพื่อนำเสนอผลงานความคิดของนักคิด และนักวิจัยรุ่นใหม่ ได้แสดงศักยภาพและเป็นเวทีในการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ ธุรกิจ และสังคม โดยมี Mr. Georg Schmig เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันประจำประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน และ ดร.ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ สวทช. Dr. Georg Verweyen Director of DAAD Information Centre Bangkok ร่วมเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันรอบตัดสิน
การแข่งขัน Falling Walls จัดขึ้นทุกปีโดยมูลนิธิ Falling Walls รวมเอาบรรดานักคิดริเริ่มจาก 80 ประเทศทั่วโลก โดยในวันที่ 9 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันครบรอบการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินจะมีการเชิญนักวิทยาศาสตร์แถวหน้าของโลก 20 ท่านมาเสนอผลงานวิจัยที่เปลี่ยนแปลงโลก ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี นอกจากนี้ภายในงานยังมีการนำเสนอผลงานความคิดจากนักคิดรุ่นใหม่จากทั่วโลก เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการทลายกำแพงและขีดจำกัดของการพัฒนาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ธุรกิจหรือสังคม
ในปีนี้ DAADประเทศไทยร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงาน Falling Walls Lab Thailand วันที่ 8 กันยายน 2562 ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ชนะในการเสนอความคิดจะได้รับตั๋วเครื่องบินไปร่วมงาน Falling Walls Conference ณ กรุงเบอร์ลิน และพบปะกับผู้นำทางการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ธุรกิจและการกำหนดนโยบายและที่พิเศษสำหรับผู้นำเสนอผลงานจากประเทศในกลุ่มอาเซียนจะได้รับการสนับสนุนจาก Euraxess ให้ไปเยี่ยมศูนย์วิจัยในยุโรปตามที่ต้องการอีกด้วย
นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) ผู้ชนะจากประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2561 นำเสนอนวัตกรรมการตรวจจับแก๊สรั่วด้วยกล้องประดิษฐ์ และได้เดินทางไปเยี่ยมชมสถาบันวิจัย Max-Planck และ Fraunhofer ที่ประเทศเยอรมนี หลังจากร่วมงานสัมมนา ณ กรุงเบอร์ลิน ในการแข่งขันในปีนี้ มีนักวิจัย สวทช. 2 คน สมัครเข้าร่วมการแข่งขัน และเข้ารอบสุดท้ายของงาน Falling Wall Lab Thailand 2019 จากจำนวนผู้เข้ารอบทั้งหมด 22 คน ได้แก่
1. ดร.ภคพฤฒ คุ้มวัน นักวิจัยกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ ทีมวิจัยเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพและการตรวจวัด ไบโอเทค สวทช. เรื่อง “Breaking the Wall of Multidrug- Resistant TB Diagnosis” คือ เทคนิคตรวจจับการกลายพันธ์ของเชื้อวัณโรคดื้อยา เพิ่มประสิทธิภาพวิธีตรวจรักษาตั้งแต่เริ่มของคนไข้ ซึ่งพบว่า DNA กลายพันธ์ เป็นเหตุดื้อยา ปัจจุบันการใช้ยาหลายชุดในการรักษาไม่ค่อยได้ประสิทธิภาพ และปัจจุบัน ชุดตรวจวัณโรคมีราคาแพง แม้แต่ราคาชุดย่อยก็เป็นหลักพัน
2.ดร.อุดม แซ่อึ่ง นักวิจัยกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ ทีมวิจัยการวิเคราะห์และประยุกต์ใช้สารชีวโมเลกุล ไบโอเทค สวทช. เรื่อง “Breaking the Wall of Bacterial Wilt Disease” คือ การใช้ไวรัสควบคุมแบคทีเรียที่ก่อโรคในพืช โรคที่ทำให้เหี่ยว โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย ซึ่งอาจพัฒนาเป็นของเหลวที่ช่วยเพื่อช่วยป้องกันและฟื้นฟูพืช เน้นใช้ธรรมชาติสร้างสมดุล
โดยผลการตัดสิน ดร. อุดม แซ่อึ่ง นักวิจัยกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ ทีมวิจัยการวิเคราะห์และประยุกต์ใช้สารชีวโมเลกุล ไบโอเทค สวทช. ได้รับรางวัลชนะเลิศของงาน Falling Wall Lab Thailand 2019 ได้ไปร่วมงาน Falling Walls Conference ณ กรุงเบอร์ลิน และเยี่ยมศูนย์วิจัยในยุโรปตามที่ต้องการอีกด้วย โดย ดร. อุดม แซ่อึ่ง เผยดีใจและเซอร์ไพรส์ที่ได้รางวัลชนะเลิศ เนื่องจากไม่ได้คาดหวังเพราะเป็นปีที่ 2 ที่มานำเสนองานวิจัยในงานนี้ ชอบตรงที่ได้แชร์ไอเดียกับนักวิจัยต่างๆ ส่วนงานวิจัยเรื่องที่ได้รางวัลมีนักวิจัยหลายท่านร่วมคิด ตัวเองเป็นแค่ตัวแทนมานำเสนอ ขอใช้โอกาสตรงนี้สร้างความเชื่อมโยง ความรู้ไบโอซิตี้ ต่อยอดแลกเปลี่ยนความรู้ หรือต่อยอดขอทุนในอนาคตของยุโรป เกิดการพัฒนาเกษตรกรรมทั่วโลกและในไทย ลดการใช้สารเคมี เพราะงาน Bio-based Economy (กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่ได้มาจากกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยที่เน้นเทคโนโลยีชีวภาพ) ทำคนเดียวไม่เห็นภาพรวม ต้องใช้พลังความคิด ขอเป็นตัวแทนเอาเรื่องราวไปเล่าเพื่อส่งเสริมซึ่งกันและกัน
ด้าน ดร.ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการว่า เป็นการทลายกำแพงด้านวิทยาศาสตร์ เกิดการทำงานร่วมกันและสร้างเครือข่ายของนักวิจัยไทยและต่างชาติ ต่อยอดองค์ความรู้ โดยงานนี้โปรโมทให้เกิดการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ เพราต้องพูดงานวิจัยภายใน 3 นาที เช่น นักวิจัยที่นำเสนอการคอนโทรลแบคทีเรียด้วยไวรัส เกิดการพัฒนาเกษตรกรรม การทลายกำแพงทางวิทยาศาสตร์นี้ทำทั่วโลก และไทยเป็น 1 ในประเทศที่ร่วมโครงการและจะไปรวมกันที่เบอร์ลิน เกณฑ์การตัดสิน คือ 1.งานที่นำเสนอต้องเป็น 1 ในเรื่องเทคโนโลยี 2.เกิดอิมแพคผลกระทบต่อมนุษยชาติอย่างไร 3.สามารถนำงานวิจัยที่ยากๆ ให้คนเข้าใจได้อย่างไร ส่วนผลสำเร็จของงานวิจัยไทยที่มีกับ DAAD และ สวทช. คือการทำงานร่วมกันกับสถาบัน สร้างเครือข่าย และมีแผนทำวิจัยร่วมกันในอนาคต เรียนเทคโนโลยี เช่น มีการเผยแพร่เอกสารร่วมกัน
ดร. เก-ออร์ก แฟร์ไวเอิน ผู้อำนวยการศูนย์บริการข้อมูลองค์การแลกเปลี่ยนวิชาการเยอรมัน (DAAD) กรุงเทพฯ กล่าวว่าต้องการให้งานสัมมนา Falling Walls Lab เป็นเวทีนำเสนอผลงาน และแลกเปลี่ยนความคิดเชิงนวัตกรรมของนักคิด นักวิจัยรุ่นใหม่ ซึ่งสามารถต่อยอดองค์ความรู้และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ นอกจากนี้ DAAD เห็นว่ามหาวิทยาลัยไทยและเยอรมนีมีความร่วมมือด้านงานวิจัยมากกว่า 200 โครงการ จึงเลือกให้ไทยเป็นหนึ่งในเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อเฟ้นหาผลงานวิจัยที่มีศักยภาพและความโดดเด่นไปนำเสนอบนเวทีระดับโลก ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี .-สำนักข่าวไทย