กรุงเทพฯ 19 ส.ค. – “สมคิด” ดึงกระทรวงอุดมศึกษาฯ ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ทุ่มงบปี 63 วงเงิน 37,000 ล้านบาท ปั้นแรงงานคุณภาพ คาดสร้างบุคลากร 525,000 คนในช่วง 5 ปี รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผลักดันงบลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา 212,240 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 1.2 ของจีดีพีในปี 63
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมมอบนโยบายผู้บริหารกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อให้ทุกหน่วยงานร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านให้มีความพร้อม เช่น การร่วมผลักดันโครงการไทยแลนด์ไซเบอร์พอร์ต เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ภาคเกษตร เข้าไปเชื่อมโยงนำนวัตกรรมพัฒนาภาคเกษตรด้วยงานวิจัย สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ เครื่องสำอาง ใช้ไบโอชีวภาพ พัฒนารองรับแพทย์ครบวงจร การวิวัฒนาการจัดเก็บเครื่องปรุง เครื่องแกง ปรุงอาหารไทย นับว่าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยแปรรูปเกษตรกำลังเติบโตสูงมาก
รวมถึงการพัฒนาระบบไอที อินเทอร์เน็ต การสร้างบุคลากรคุณภาพ รองรับความต้องการของอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย ยอมรับว่าไทยมีศักยภาพไม่แพ้ต่างชาติ หากทุกด้านมีความพร้อมจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติเตรียมพร้อมเข้ามาขยายการลงทุน ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงอุดมศึกษาฯ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันยกระดับงานวิจัย การพัฒนาบุคคลากร งานนวัตกรรม รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย รัฐบาลจึงต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก เยาวชนตื่นตัวในการพัฒนาด้านนวัตกรรมกับทุกกิจกรรมทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชน
กระทรวงอุดมศึกษาฯ เตรียมงบประมาณปี 2563 พัฒนาบุคลากร 37,000 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาปี 2563 วงเงิน 212,240 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 1.2 ของจีดีพี แบ่งเป็นการลงทุนภาครัฐร้อยละ 25 หรือมูลค่า 53,085 ล้านบาท การลงทุนจากภาคเอกชนร้อยละ 75 หรือประมาณ 159,255 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนถึงร้อยละ 1.5 ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า หลังจากปี 2560 ไทยลงทุนด้านการวิจัยร้อยละ 1 ของจีดีพี โดยระหว่างปี 2562-2566 ราชมงคล กำหนดเป้าหมายผลิตบุคลากร 10,000 คนต่อปี ราชภัฎ 17,000 คนต่อปี มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ 25,000 คนต่อปี รวมทั้งหมดสถาบันการศึกษาผลิตได้ 105,000 คนต่อปี รวมเวลา 5 ปี ผลิตแรงงานคุณภาพ 525,000 คนต่อปี เนื่องจากตลาดต้องการนายช่าง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโรงงานสมัยใหม่ วิศวกร นักออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้า
ที่ประชุมเน้นย้ำเกี่ยวกับการพัฒนาด้านการวิจัยปี 2563-2565 ตอบโจทย์ประเทศ ด้วยการพัฒนาด้านเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน (BCG) ให้เป็นแรงขับเคลื่อนจากภายในเพิ่มมูลค่าจากร้อยละ 34 จีดีพี หรือมูลค่า 5.5 ล้านล้านบาทในปี 2562 เพิ่มเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของจีดีพี หรือมูลค่า 7.8 ล้านล้านบาทในปี 2565 มุ่งพัฒนาด้านเกษตร อาหาร สุขภาพ การแพทย์ พลังงาน การท่องเที่ยว เพื่อสร้างแรงงานรายได้สูง 20 ล้านตำแหน่ง สินค้าเกษตรมูลค่าสูงขึ้น 3 เท่าตัว ลดการใช้ทรัพย์กรเหลือใช้ 2 ใน 3 จากปัจจุบันลดการพึ่งพาผลิตยา เครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ เพื่อต้องการให้ไทยนำศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตร ยกระดับไปสู่การผลิตแบบพรีเมียม.-สำนักข่าวไทย