กรุงเทพฯ 22 ก.ค. – สทนช.ชี้ปริมาณฝนยังต่ำและน้ำในอ่างลดลงต่อเนื่อง พร้อมออก 3 มาตรการรับมือภัยแล้ง เสนอนายกรัฐมนตรี
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 8/2562 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการรับมือภัยแล้งในช่วงฤดูฝน เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี 3 มาตรการ คือ มาตรการเร่งด่วน มาตรการระยะสั้น และมาตรการระยะยาว
สำหรับมาตรการเร่งด่วน ได้แก่ 1.ตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวส่วนกลางในภาวะวิกฤติ โดย สทนช.จะทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และตั้งศูนย์ของจังหวัด เพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรี 2.ปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เหนือและท้ายอ่างเก็บน้ำ 3.สนับสนุนน้ำอุปโภคบริโภคจากแหล่งน้ำใกล้เคียงในพื้นที่เสี่ยง และ 4.เร่งขุดลอกเพิ่มความจุแหล่งน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่ประกาศภัยแล้ง-แล้งซ้ำซาก 144 โครงการ วงเงิน 1,226 ล้านบาท 5.ปรับแผนขุดเจาะซ่อมแซมบ่อบาดาล 6.การชดเชยเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ และ 7.ประชาสัมพันธ์การใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างต่อเนื่อง
มาตรการระยะสั้น 1.เร่งรัดการก่อสร้างและซ่อมแซมฝายชะลอน้ำในพื้นที่ 67 จังหวัด 30,000 แห่ง งบประมาณ 3,000 ล้านบาท 2.ทบทวนปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม-31 ตุลาคม 2562 เพื่อวางแผนการใช้น้ำฤดูแล้งปี 2563 3.สำรวจความต้องการใช้น้ำแต่ละพื้นที่ 4.บริหารจัดการน้ำฝนในแหล่งกักเก็บให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ 5.ให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมาตรการระยะยาว 1.เร่งรัดโครงการแหล่งน้ำตามแผนแม่บท 20 ปี 2.เชื่อมโยงโครงข่ายในพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่แล้งซ้ำซาก เพื่อให้เกิดภาวะสมดุลด้านน้ำ 3.กำหนดพื้นที่เพาะปลูกให้สอดคล้องกับแหล่งน้ำและปริมาณน้ำต้นทุน
สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำปัจจุบัน พบว่ามีปริมาณน้ำรวม 38,665 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 47% ของความจุอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ โดยมีปริมาณน้ำต้นทุนมากกว่าปี 2558 จำนวน 2,293 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2561 จำนวน 11,904 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยครึ่งหลังของฤดูฝนตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2562 จะมีปริมาณฝนใกล้เคียงกับค่าปกติใกล้เคียงกับปี 2550 และคาดว่าจะมีพายุพัดผ่านประเทศไทย 1-2 ลูกในช่วงเดือนสิงหาคม 2562
นายสมเกียรติ กล่าวเพิมเติมว่า ขณะนี้มี 83 อำเภอ ใน 20 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีภาวะเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำ รวมทั้งจะทบทวนการระบายน้ำใน 3 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อกักเก็บน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ส่วนเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ล่าสุดทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แจ้งว่าวันที่ 19-21 กรกฎาคมที่ผ่านมาทางเขื่อนไซยะบุรีได้ปรับลดการระบายน้ำตามปกติแล้ว เพื่อรอให้น้ำจากเขื่อนจิ่งหง ของจีนไหลลงมาถึงก่อน คาดว่าระดับน้ำโขงจะเข้าสู่ภาวะปกติเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการประเมินระดับน้ำในแม่น้ำโขงยาก แต่พยายามจะทำให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด.-สำนักข่าวไทย