กรุงเทพฯ 25 ก.ค.-รมว.เกษตรฯ สั่งกรมปศุสัตว์เร่งช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และปศุสัตว์ในพื้นที่ประสบอุทกภัยจากพายุวิภา ทั้งการช่วยเหลือในระยะเผชิญเหตุและการฟื้นฟูหลังน้ำลด ตลอดจนเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ที่อาจเกิดขึ้นได้เพื่อบรรเทาความเสียหายด้านปศุสัตว์
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ กรมปศุสัตว์ เร่งช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงที่ได้รับผลกระทบจากพายุ “วิภา” ครอบคลุม 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย สกลนครนครพนม น่าน อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ พะเยา และแพร่ รวม 40 อำเภอ 155 ตำบล 877 หมู่บ้าน

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เกษตรกรได้รับผลกระทบ 52,789 ราย มีสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 1,958,863 ตัว แบ่งเป็นโค 124,429 ตัว กระบือ 41,552 ตัว สุกร 70,995 ตัว แพะ/แกะ 2,135 ตัว และสัตว์ปีก 1,719,752 ตัว โดยแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์เสียหาย 8,332.20 ไร่
ในระยะเผชิญเหตุ กรมปศุสัตว์ได้จัดส่งหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน 48,200 กิโลกรัม พร้อมถุงยังชีพสัตว์เลี้ยง 105 ถุง อพยพสัตว์ 55,144 ตัว สนับสนุนชุดส่งเสริมสุขภาพสัตว์ 1,178 ชุด และให้การรักษาสัตว์บาดเจ็บแล้ว 22 ตัว

หนึ่งในภารกิจอพยพสัตว์ที่สำคัญเกิดขึ้นที่ปิติภิวัฒน์ฟาร์ม ฟาร์มสุกรในพื้นที่บ้านห้วยไคร้ หมู่ 6 ตำบลเวียง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ซึ่งน้ำท่วมฉับพลันเข้าพื้นที่ เจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเทิงร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย มูลนิธิแสงธรรมสาธารณกุศล สมาคมกู้ชีพกู้ภัยเทิงการกุศล และกู้ชีพบุญช่วยอุปถัมภ์ ได้เร่งขนย้ายสุกรกว่า 1,100 ตัว ออกจากพื้นที่น้ำท่วม โดยใช้เรือท้องแบนติดเครื่องยนต์และกำลังพลจำนวนมาก เพื่อป้องกันความสูญเสียและลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบาด
สำหรับความเสียหายสัตว์ตายหรือสูญหาย พบใน 3 จังหวัด คือ เชียงราย น่าน และอุตรดิตถ์ รวม 15,944 ตัว แบ่งเป็นโค 5 ตัว สุกร 18 ตัว และสัตว์ปีก 15,921 ตัว แปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ได้รับความเสียหาย 8,332.20 ไร่
อธิบดีกรมปศุสัตว์เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่เร่งสำรวจความเสียหายและบูรณาการกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูสุขภาพสัตว์และอาชีพเกษตรกร พร้อมดำเนินการเยียวยาตามระเบียบกระทรวงการคลัง รวมถึงกำชับให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนหรือปรับปรุงข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ เพื่อรับความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ที่อาจเกิดขึ้นหลังน้ำลด เพื่อป้องกันความสูญเสียเพิ่มเติม
หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ประสบอุทกภัยและต้องการความช่วยเหลือจากกรมปศุสัตว์ สามารถติดต่อศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร 02-6534444 ต่อ 3315 หรือแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย