กรุงเทพฯ 2 ก.ค. – “ประเสริฐ” รองนายกฯ ประชุมหลายหน่วยงานกำชับนโยบายป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ ย้ำมาตรการเชิงรุกแจ้งเตือนเร็วและพร้อมช่วยเหลือทันที
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและภัยพิบัติ โดยมีผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรธรณี และหน่วยทหาร เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นายประเสริฐ เปิดเผยว่า ปีนี้ประเทศไทยต้องเผชิญกับฝนที่มาเร็วกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ร่องมรสุมมีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ก่อนเคลื่อนตัวเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนาม ส่งผลให้หลายพื้นที่มีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม อย่างไรก็ตาม ระดับน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากได้มีการพร่องน้ำไว้ล่วงหน้าเพื่อรองรับฝนที่อาจตกหนัก จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและมีมาตรการรองรับอย่างเป็นระบบ
ในการประชุมครั้งนี้ได้กำหนดนโยบายเชิงรุกเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย วาตภัย และธรณีพิบัติภัย ด้วยการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานส่วนกลางและจังหวัดต่าง ๆ เพื่อประเมินความเสี่ยงและเตรียมมาตรการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากอุทกภัยและเปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถใช้น้ำฝนที่มากกว่าปกติให้เกิดประโยชน์ในการเกษตร
นายประเสริฐ ได้มอบนโยบายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยง เพื่อเฝ้าระวัง คาดการณ์พายุ และแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าอย่างน้อย 2–3 วัน พร้อมตรวจสอบและทดสอบระบบเตือนภัยให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมทรัพยากรธรณี ติดตามสถานการณ์น้ำและธรณีพิบัติภัยอย่างใกล้ชิด
ด้านการเตรียมความพร้อมในพื้นที่ สั่งการให้เร่งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวางทางน้ำ ประสานกับหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาเพื่อขุดลอกลำคลอง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ พร้อมเตรียมเครื่องจักรกล อุปกรณ์ อากาศยาน เรือ และศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ในระดับจังหวัด รวมถึงพื้นที่อพยพและศูนย์พักพิงที่มีอาหาร น้ำดื่ม และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รองรับกรณีฉุกเฉิน
ในส่วนของการฟื้นฟูและเยียวยา ได้สั่งการให้เร่งสำรวจความเสียหายของบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชนเพื่อดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้เร็วที่สุด พร้อมจัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ห่างไกล โดยให้ทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน จิตอาสา และมูลนิธิต่าง ๆ ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบและไม่ซ้ำซ้อน
พร้อมกันนี้ ได้เน้นย้ำถึงการใช้งานระบบแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast (CB) ซึ่งเริ่มเปิดใช้งานแล้วในหลายพื้นที่ และกำลังเร่งขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลอย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเผยแพร่ความรู้ด้านภัยพิบัติและแนวทางการรับมือผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
สำหรับกรณีแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านและบริเวณทะเลอันดามัน นายประเสริฐได้สั่งการให้กรมทรัพยากรธรณีเฝ้าระวังและรายงานสถานการณ์ทันที หากมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อประเทศไทย พร้อมใช้ระบบ CB แจ้งเตือนประชาชนภายใน 1 ชั่วโมง
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวในช่วงท้ายว่า รัฐบาลจะดำเนินมาตรการเชิงรุกอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติในทุกรูปแบบ พร้อมขอความร่วมมือจากประชาชนให้ติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว. -512-สำนักข่าวไทย