กระทรวงการต่างประเทศ 24 ก.ค. – “มาริษ” ย้ำจุดยืนแก้ปัญหาไทย-กัมพูชา ด้วยสันติวิธี ยื่นประท้วงยูเอ็นและภาคีอนุสัญญาออตตาวา หลังพบการละเมิดบูรณภาพดินแดน ชี้เขมรบิดเบือนกับประเทศที่สาม อ้างไทยไม่ยอมเจรจา ขณะที่ “กต.-คมนาคม-เอกชน” พร้อมอพยพคนไทยกลับ
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงระหว่างการปฏิบัติภารกิจเข้าร่วมประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ผ่าน VDO Conference เพื่อเป็นประธานเปิดการประชุมเกี่ยวกับแผนการช่วยเหลือคนไทยในกัมพูชา
โดยระบุว่า ตนเองได้ใช้โอกาสในการประชุมหารือและชี้แจงกับผู้นำระดับสูงหลายประเทศ เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งขณะนี้มีความตึงเครียดจากกรณีการโจมตีอย่างต่อเนื่องของกองทัพกัมพูชาในเขตฝั่งไทย และการใช้กับระเบิดละเมิดอำนาจอธิปไตยของไทย พร้อมเปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ซึ่งมีปากีสถานเป็นประธานหมุนเวียนในครั้งนี้ โดยได้กล่าวถ้อยแถลงในนามรัฐบาลไทย ย้ำจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างประเทศผ่านการเจรจาทวิภาคีอย่างสันติและด้วยความจริงใจ (in good faith) พร้อมยืนยันว่าไทยยังคงยึดมั่นในหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติอย่างเคร่งครัดในการป้องกันตนเองจากการรุกราน
นายมาริษ กล่าวว่า ในการหารือทวิภาคีกับผู้แทนระดับสูงจากหลายประเทศ ได้พบกับ รมว.กต.ปากีสถาน เลขาธิการสหประชาชาติ และรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกอื่นๆ รวมถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประธานภาคีอนุสัญญาออตตาวาในปีนี้ โดยฝ่ายไทยได้ยื่นหนังสือประท้วงและชี้แจงเหตุการณ์ละเมิดจากกัมพูชาอย่างเป็นทางการ พร้อมระบุว่าการที่กัมพูชาใช้กับระเบิดในพื้นที่เขตแดนไทย ซึ่งส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ถือเป็นการละเมิดอนุสัญญาออตตาวา และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ในหลักสากล
นายมาริษ กล่าวว่า ไทยได้เปิดประตูเจรจากับกัมพูชามาโดยตลอดด้วยท่าทีสร้างสรรค์และจริงใจ แตกต่างจากฝ่ายกัมพูชาที่ไม่เพียงไม่ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงต่อประเทศที่สาม แต่ยังมีความพยายามบิดเบือนว่าไทยไม่ยอมเจรจาทวิภาคี ซึ่งไม่เป็นความจริง
ในส่วนของสถานการณ์ความมั่นคงล่าสุด รมว.กต. ยืนยันว่า การโจมตีของกองทัพกัมพูชาในช่วงเช้าที่ผ่านมา (24 ก.ค.) มุ่งเป้าไปยังพื้นที่พลเรือนของไทย ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล ห้างร้าน และบ้านเรือน ส่งผลให้ประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งหากยังไม่มีการยุติการกระทำดังกล่าว ไทยพร้อมยกระดับมาตรการป้องกันตนเองตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ระหว่างการประชุมผ่าน VDO Conference นายมาริษ ยังได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสายการบิน เพื่อเตรียมแผนอพยพคนไทยจากกัมพูชาอย่างเป็นระบบ โดยมีการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างกรุงพนมเปญและกรุงเทพฯ เพื่อรองรับความต้องการเดินทางกลับประเทศ พร้อมขอให้คนไทยในกัมพูชาติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเสียมราฐ และคอลเซ็นเตอร์กรมการกงสุล พร้อมยืนยันว่าประเทศไทยมีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ในการใช้วิถีทางสันติ และการเจรจาอย่างจริงใจเพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนทั้งสองประเทศ แต่ในขณะเดียวกันหากมีการรุกรานต่อเนื่อง เราจะไม่ละเลยในการปกป้องประชาชนและอธิปไตยของประเทศ
ขณะที่ในที่ประชุมกำหนดมาตรการและแผนการอพยพคนไทยในกัมพูชา ณ กระทรวงการต่างประเทศ ในวันนี้นั้น มีสายการบินพาณิชย์ของไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมหารือ โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงคมนาคม และพลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) พร้อมด้วยสายการบินพาณิชย์สัญชาติไทย ทั้ง 7 สายการบิน เข้าประชุมหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ ถึงแผนการรองรับการเดินทางของคนไทยในกัมพูชา ที่ประสงค์เดินทางกลับประเทศไทย ผลจากสถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา
ทั้งนี้ ทุกสายการบินสัญชาติไทย ทั้ง 7 สายการบิน พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ โดยขณะนี้มี 4 สายการบิน ที่ทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-กัมพูชา อยู่แล้ว ได้แก่ การบินไทย ให้บริการ 16 เที่ยวบิน/สัปดาห์ จำนวน 180 ที่นั่งต่อเที่ยวบิน, ไทยแอร์เอเชีย 28 เที่ยวบิน/สัปดาห์ จำนวน 180 ที่นั่งต่อเที่ยวบิน, บางกอกแอร์เวย์ส 40 เที่ยวบิน/สัปดาห์ จำนวน 180 ที่นั่ง และ 70 ที่นั่งต่อเที่ยวบิน และไทยเวียตเจ็ท 16 เที่ยวบิน/สัปดาห์ จำนวน 180 ที่นั่งต่อเที่ยวบิน และอีก 3 สายการบิน ได้แก่ ไทยไลอ้อนแอร์ ไทยแอร์เอเชียร์เอ็กซ์ และนกแอร์ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อรองรับการเดินทางมายังประเทศไทย
พลอากาศเอก มนัท กล่าวว่า ขณะนี้มีคนไทยในกัมพูชาราว 500 คน โดย 300 คน มีตั๋วแล้ว ส่วนอีก 200 คน สามารถประสานผ่านสถานทูตฯ หรือกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันพร้อมอำนวยความสะดวกและดูแลคนไทยทุกคนให้เดินทางกลับประเทศได้ภายใน 1-2 วันนี้ .-312-สำนักข่าวไทย