กรุงเทพฯ 30 มิ.ย. – สทนช.ประกาศเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม–ดินถล่มใน 4 ภาค จับตาน้ำโขงเพิ่มระดับต่อเนื่อง พร้อมตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า” ที่หนองคาย
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากการประเมินร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ช่วงวันที่ 1–5 กรกฎาคม 2568 อาจมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่งผลให้หลายพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และน้ำท่วมขังในเขตเมือง รวมทั้งระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงเตรียมจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าที่จังหวัดหนองคาย เพื่อรับมือสถานการณ์
พื้นที่เสี่ยงภัยแบ่งตามภูมิภาค ดังนี้:
ภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงราย (เมืองเชียงราย แม่สาย พญาเม็งราย เวียงชัย เทิง เชียงของ เวียงแก่น เชียงแสน), จ.ตาก (ท่าสองยาง อุ้มผาง), จ.น่าน (เมืองน่าน บ่อเกลือ ปัว ทุ่งช้าง ภูเพียง ท่าวังผา เวียงสา), จ.พะเยา (เมืองพะเยา ปง เชียงม่วน)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.เลย (เมืองเลย นาด้วง ด่านซ้าย นาแห้ว ปากชม), หนองคาย (รัตนวาปี), บึงกาฬ (เมืองบึงกาฬ ปากคาด), อุดรธานี (วังสามหมอ หนองหาน), ยโสธร (เมืองยโสธร มหาชนะชัย), ร้อยเอ็ด (ทุ่งเขาหลวง พนมไพร สุวรรณภูมิ เสลภูมิ หนองฮี อาจสามารถ), สุรินทร์ (กาบเชิง บัวเชด สังขะ), ศรีสะเกษ (ศิลาลาด ภูสิงห์), อุบลราชธานี (โขงเจียม สิรินธร พิบูลมังสาหาร ศรีเมืองใหม่)
ภาคตะวันออก ได้แก่ จ.จันทบุรี (เมืองจันทบุรี ขลุง ท่าใหม่ นายายอาม มะขาม แหลมสิงห์), จ.ตราด (เมืองตราด เขาสมิง บ่อไร่)
ภาคใต้ ได้แก่ จ.ระนอง (เมืองระนอง กะเปอร์ ละอุ่น กระบุรี), จ.พังงา (คุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง ท้ายเหมือง)
ขณะเดียวกันยังต้องเฝ้าระวัง อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีน้ำเกิน 80% ของความจุใน จ.เชียงใหม่ ลำปาง น่าน สุโขทัย พิษณุโลก สกลนคร อุดรธานี ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ นครพนม นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี และกระบี่ โดยเฉพาะ อ่างเก็บน้ำที่เกินความจุแล้ว ได้แก่ ห้วยโทงและห้วยซวง (สกลนคร), หนองหญ้าม้า (กาฬสินธุ์), ด่านชุมพล (ตราด) รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น กว๊านพะเยา หนองหาร หนองกุดทิง ต้องเร่งพร่องน้ำเพื่อรองรับฝน
ในส่วนของ แม่น้ำสายหลัก ให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่อาจเพิ่มขึ้นฉับพลัน โดยเฉพาะลุ่มน้ำอิง อ.เชียงคำ เทิง พญาเม็งราย ขุนตาล และเชียงของ จ.เชียงราย ขณะที่ ระดับน้ำโขง เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากฝนตกสะสมใน สปป.ลาว ซึ่งอาจกระทบพื้นที่ จ.เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
สทนช. ขอให้หน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการ 5 แนวทางรับมือ ได้แก่
- เฝ้าระวังฝนสะสมเกิน 90 มม. ใน 24 ชม. และจุดเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก
- ตรวจสอบแนวคัน กำจัดสิ่งกีดขวาง วางแผนจัดการน้ำต้นน้ำ–ปลายน้ำ
- เตรียมบุคลากร เครื่องจักร ระบบสื่อสารรับสถานการณ์
- ประชาสัมพันธ์–แจ้งเตือนประชาชนให้พร้อมอพยพหากจำเป็น
- จังหวัดริมแม่น้ำโขง โดยเฉพาะหนองคาย ให้เตรียมรับมือระดับน้ำเปลี่ยนแปลง และสื่อสารสถานการณ์อย่างใกล้ชิด.512 – สำนักข่าวไทย