กทม.26 มิ.ย.-กรุงเทพธนาคม ยืนยันโครงการท่อร้อยสายสื่อสารลงดินดำเนินการตามขั้นตอนโปร่งใส ส่วน ‘ทรู’ เป็นแค่ลูกค้าไม่ใช่รับงานไปบริหารต่อ
นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด พร้อมด้วยนายเอกรินทร์ วาสนาส่ง รองกรรมการผู้อำนวยการสายยุทธศาสตร์และพัฒนาเมือง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ร่วมแถลงชี้แจงกรณีมีนักวิชาการและสื่อมวลชน มีข้อสงสัยการวิจารณ์โครงการท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดินของกรุงเทพมหานคร(กทม.) ทั้งเรื่องมูลค่าโครงการฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่ออัตราการเรียกเก็บค่าบริการในอัตราสูงเกินจริง รวมถึงความโปร่งใสในการสรรหาผู้รับเหมางาน และการสรรหาผู้ใช้บริการความจุหลัก
นายเอกรินทร์ กล่าวว่า หลังกทม.มอบหมายให้กรุงเทพธนาคมเป็นเจ้าของโครงการและลงทุนเองทั้งหมด โดยมีการทำบันทึกข้อตกลงมอบหมายงานเมื่อวันที่ 14ธ.ค.61 ต่อมาในเดือน ม.ค.62 กรุงเทพธนาคมได้ดำเนินการสรรหางาน EPC หรือการจ้างเหมาทั้งงานออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ การก่อสร้างแบบครบวงจร รวมถึงดำเนินการสรรหาผู้ใช้บริการ สรรหาแหล่งเงินทุน สรรหาที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างและผลักดันการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จทันกำหนด
โดยขั้นตอน EPC มีผู้รับเอกสารทั้งสิ้น 55 ราย ยื่นข้อเสนอ 8 ราย ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น 3 และผ่านการพิจารณาคัดเลือกเมื่อวันที่ 9 เม.ย.62 จำนวน 3ราย ในการคัดเลือกได้คัดกรองคุณภาพเบื้องต้นก่อนจะมีการยื่นข้อเสนอและคัดเลือก โดยเฉพาะคุณสมบัติทางเทคนิค และความมั่นคงทางการเงินของบริษัททั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เกิดการทิ้งงาน เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อโครงการฯ ได้ ซึ่งขณะนี้ได้ผู้ชนะงานรับเหมาก่อสร้างทั้ง 4 พื้นที่ของกรุงเทพฯ เรียบร้อยแล้ว และพร้อมเดินหน้าโครงการเพื่อให้แล้วเสร็จทันระยะเวลาที่กำหนด 2 ปี
ขณะที่การสรรหาผู้ใช้บริการความจุใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ใช้บริหารหลัก ได้ดำเนินตามขั้นตอนด้วยความโปร่งใส ไม่มีลักษณะการปกปิดหรือจงใจไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ จนเป็นเหตุให้มีผู้ยื่นข้อเสนอและผ่านเกณฑ์พิจารณาเพียง1 ราย ตามที่มีการกล่าวหา โดยกรุงเทพธนาคมได้ประกาศผ่านทางหนังสือพิมพ์ต่างๆเว็บไซต์ของกรุงเทพธนาคม รวมถึงเปิดให้ลงชื่อแสดงเจตจำนงในการยื่นข้อเสนอใช้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมซึ่งมีผู้แสดงเจตจำนง 9 ราย
จากนั้นได้ส่งหนังสือเชิญชวนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง จำนวน 16 ราย รวมเป็น 25 ราย รับเอกสารเชิญชวน 16 ราย แต่มีเพียง 1 รายที่ยื่นข้อเสนอ คือบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด และผ่านเกณฑ์คัดเลือกตามมาตรฐานที่กำหนดเมื่อวันที่24พ.ค.62ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาเรื่องราคา แต่ยังไม่ได้มีการลงนาม หรือดำเนินการใดๆ ตามที่สื่อนำเสนอ
ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนินโครงการไม่เข้าหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐและเป็นไปตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งผู้ใช้บริการความจุ มีสถานะเป็นลูกค้า และผู้ใช้บริการโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินของกรุงเทพธนาคม ไม่ได้มีการให้สัมปทานหรือมีการโอนสิทธิ์ให้กับทรูหรือมอบหมายให้ทรู เป็นผู้ดำเนินการบริหารแต่อย่างใด กรุงเทพธนาคมเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ทรูเป็นลูกค้าที่แสดงเจตจำนงค์ในการขอใช้บริการเท่านั้น
ส่วนการกล่าวอ้างตัวเลขค่าบริการราคาสูงถึง 21,000 -27,000 บาท/ซับดัก/กิโลเมตร/เดือนนั้น ขณะนี้ยังไม่มีกำหนดอัตราค่าบริการ แต่อย่างใด เนื่องจากการกำหนดอัตราค่าบริการของโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารฯ เป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ในการกำกับดูแลและกำหนดราคาโดยตรง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากสทช. จะมีมาตรการสนับสนุน และจูงใจ เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกรายสามารถใช้ท่อร้อยสายสื่อสารได้ในราคาที่เป็นธรรม และเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ
ขณะเดียวกันกรุงเทพธนาคม และผู้ใช้บริการหลัก ไม่อาจเรียกเก็บค่า บริการจากผู้ใช้บริการรายอื่นเกินกว่าอัตราที่ กสทช. กำกับและกำหนดได้ ดังนั้นข้อกล่าวหาราคาค่าบริการโครงข่ายท่อร้อยสายของกรุงเทพธนาคม จะแพงกว่าผู้ประกอบการรายอื่นถึง 3 เท่านั้น ไม่เป็นความจริง
ด้านนายกิติศักดิ์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการลงทุนใหม่ คุ้มค่ากว่า และสามารถใช้งานได้ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายคือ 50 ปี เพื่อไม่ให้เกิดการขุดกลบๆ อย่างที่ผ่านมา โดยกรุงเทพธนาคมเลือกใช้เทคโนโลยีไมโครดัก เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ รองรับการขยายตัวในอนาคต ประหยัดพื้นที่ใต้ฟุตปาธ และไม่ได้เป็นโครงการซ้ำซ้อนกับโครงการท่อร้อยสายของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีท่อร้อยสายอยู่เดิม โดยท่อของทีโอทีส่วนใหญ่อยู่ใต้ถนน อีกทั้งปัจจุบันยังไม่สามารถนำสายสื่อสารจำนวนมากลงดินได้ตามเป้าหมาย
ส่วนท่อเดิมที่ทีโอที และ CAT มีใช้งานอยู่นั้น กทม.ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ยังสามารถให้ใช้งานต่อได้ จึงไม่ถือเป็นการผูกขาด เพียงแต่กทม.จะดำเนินการวางโครงข่ายท่อร้อยสายใหม่ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ จึงไม่มีความจำเป็นต้องทำซ้ำซ้อน แต่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกับโครงข่ายของกทม.ได้ ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ กรุงเทพธนาคม จะเปิดให้ทุกบริษัทสามารถเช่าท่อร้อยสายได้อย่างเสมอภาคในราคาที่เป็นธรรมเหมาะสม และยังเหลือเพียงพอที่จะให้บริการกับผู้ใช้บริการรายอื่นที่จะพึงมีในอนาคตภายใต้การกำหนดราคาของกสทช. และให้ กทม.ได้ร่วมใช้ในกิจการของกทม. โดยไม่คิดค่าบริการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
สำหรับโครงการนี้เดิมที คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่จากการพิจารณาในเบื้องต้นน่าจะไม่ถึง 20,000ล้านบาทและคาดการณ์ว่าจะมีผู้ประกอบการเข้ามาใช้ท่ออยู่ที่ประมาณ10 รายหนึ่งรายต่อหนึ่งเส้น ส่วนการเซ็นสัญญากับทรูที่จะเช่าใช้ท่อเป็นระยะเวลา 30 ปีน่าจะเสร็จเรียบร้อยภายใน 1-2 เดือนหลังจากนี้.-สำนักข่าวไทย