กทม.18ต.ค.-กรุงเทพธนาคม เผยครบกำหนดขยายเวลายื่นความต้องการใช้ท่อร้อยสายสื่อสาร มีผู้สนใจรวม13 ราย เตรียมสรุปข้อมูลก่อนเสนอให้ กสทช.ภายในเดือนนี้ เพื่อกำหนดอัตราค่าเช่าท่อต่อไป
นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทฯ ได้ขยายเวลายื่นเอกสาร แจ้งความต้องการใช้ท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในลักษณะของ “ไมโครดัก” ของทางบริษัทฯ เพิ่มเติมถึงวันที่ 16 ต.ค.62 หลังจากที่การเปิดให้แจ้งความต้องการใช้ท่อร้อยสายสื่อสารรอบแรก ที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 9 ต.ค.62 มีผู้ประกอบการหลายราย จำเป็นต้องใช้ระยะเวลา ในการจัดเตรียมเอกสาร ซึ่งทางบริษัทฯ ได้พิจารณาขยายเวลาให้เพื่อ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกรายอย่างเต็มที่นั้น
ผลปรากฎว่า เมื่อครบกำหนดในการขยายเวลาครั้งนี้ มีผู้ประกอบการ ที่ยื่นความประสงค์ใช้ท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินของบริษัทฯเพิ่มเติม จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย
1.บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด
2.บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด
3.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด
4.บริษัท แอมเน็กซ์ จำกัด
และ5.บริษัท กสทโทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
เมื่อรวมกับผู้ประกอบการที่ได้ยื่นความต้องการใช้ท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ในรอบแรก ที่มีจำนวน 8 ราย คือ
1.บริษัท เคเบิลคอนเนค จำกัด
2.บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด
3.บริษัท อินฟอเมชั่น ไฮเวย์ จำกัด
4.บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน)
5.บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน)
6.บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน)
7.บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)
และ 8.บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน)
รวมแล้วมีจำนวนผู้ที่ยื่น ความต้องการใช้ท่อทั้งหมด 13 ราย
นายมานิต กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะต้องนำข้อมูลที่ทางผู้ประกอบการยื่น มาสรุปเป็นความต้องการใช้ท่อที่จะใช้ในแต่ละเส้นทาง แต่ละโซนว่าจะมีความต้องการใช้จริงจำนวนกี่ท่อ และนำมาใช้ในการประเมินต้นทุนการก่อสร้าง ซึ่งจะสะท้อนออกมาเป็นอัตราอ้างอิงค่าเช่าท่อจริง ที่บริษัทฯจะเสนอไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)พิจารณาอีกครั้ง
ทั้งนี้ คาดว่าจะสรุปรายละเอียดทั้งหมด เสนอได้ภายในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่ง กสทช.จะเป็นผู้พิจารณาอัตราค่าเช่าท่อร้อยสายสื่อสาร ตามประกาศ และระเบียบที่เกี่ยวข้องของ กสทช.ต่อไป
อย่างไรก็ตาม กรุงเทพธนาคมยังเปิดรับข้อมูลความต้องการใช้ท่อร้อยสายสื่อสารจากผู้ประกอบการรายอื่นที่อาจมีความต้องการใช้ในอนาคต นอก จากนั้นแล้วยังได้ศึกษาแนวทางสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอื่นๆที่อาจมีความต้องการเพิ่มเติมเช่นกัน ซึ่งหากมีผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ท่อร้อยสายเพิ่มเติมก็สามารถแจ้งความต้องการเพิ่มได้ตลอดเวลา. –สำนักข่าวไทย