กทม.26 มิ.ย.- นักวิชาการวงเสวนา”สิทธิความเป็นส่วนตัว: บทบาทของสื่อเเละความรับผิดชอบในการสร้างความตระหนักต่อสังคมเผย การบูลลี่-ตามล่าเเม่มด เกิดจากความอ่อนจริยธรรมเเละสะท้อนสังคมไม่พร้อมรับมือ ขณะที่ทุกคนเป็นสื่อได้ด้วยตนเอง จำเป็นต้องตระหนักสิทธิบุคคล ไม่ใช้สื่อเป็นอาวุธทำร้ายผู้อื่น
นางทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายศึกษา เป็นประธานเปิดการเสวนาทางวิชาการ “สิทธิความเป็นส่วนตัว: บทบาทของสื่อเเละความรับผิดชอบในการสร้างความตระหนักต่อสังคม” ภายใต้โครงการ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมือง ที่สถาบันนโยบายศึกษาร่วมกับมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประจำประเทศไทยเเละสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความตระหนัก สามารถปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของตนจากการถูกล่วงละเมิด ยกระดับการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยรัฐเเละองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้สื่อมวลชนได้แลกเปลี่ยนเเนวทางปฏิบัติที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในการเผยเเพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ท่ามกลางยุคการสื่อสารไร้พรมแดน เเม้การติดต่อสื่อสารจะรวดเร็วขึ้น เเต่ในมุมหนึ่งถือเป็นการสูญเสียความเป็นส่วนตัว
นางทิพย์พาพร กล่าวว่า เเม้ไทยจะมีพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลพ.ศ….ประกาศใช้เมื่อวันที่27 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่มีสาระสำคัญกำหนดให้การเก็บรวบรวม การใช้ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลอย่างชัดเจนเเละสามารถถอนความยินยอมภายหลังได้ เเต่ขณะเดียวกับพรบ.ฉบับนี้ยังไม่ชัดเจนในเเนวทางปฏิบัติ เพราะต้องมีการออกระเบียบเเละประกาศมารองรับการทำความเข้าใจ การเตรียมการของหน่วยงานรัฐในการรอฝรับกฎหมายก็ยังไม่ไปในทิศทางเดียวกัน เเละประชาขนก็รับรู้เรื่องนี้ไม่มาก จึงเกิดการเสวนาขึ้น เพื่อให้สังคมตระหนักการใช้สื่อ ร่วมรับผิดชอบสังคม เพราะปัจจุบันสื่อสมัยใหม่ ทุกคนเป็นสื่อได้ด้วยตนเอง สร้างเรื่องราวบนออนไลน์มากมายเเละบางครั้งก็เกิดการใช้สื่อเพื่อทำร้ายคนอื่น คล้ายเป็นอาวุธใหม่ ที่สังคมยังไม่ได้เตรียมตัวรับมือ จึงเห็นความอ่อนเเอของสังคม
‘อย่างกรณีการบูลลี่ การตามล่าเเม่มดหรือการเเทรกเเซงข้อมูลเท็จต่างๆ สร้างความเสื่อมเสียเเละกระทบต่อจิตใจ จนหลายครั้งคนที่ถูกกระทำมักเลือกจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งหากมองเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะการใช้สื่อ ความอ่อนจริยธรรม ระบบการศึกษาเเละสังคมไม่ได้ฟูมฟัก ดังนั้นการศึกษาจึงต้องสอนให้เด็กใช้สื่อหรือมือถืออย่างเหมาะสม ใช้เพื่อส่วนรวมมากกว่าตนเอง นำกรณีความร้ายเเรงจากการใช้สื่อที่เกิดขึ้นมาสอนเด็ก สังคมต้องใช้สื่ออย่างมีจริยธรรมรับมือเทคโนโลยี เพราะไม่เช่นนั้นทุกคนจะมีเครื่องมือสร้างภัยใกล้ตัวจากมือถือที่พกพา’นางทิพย์พาพร กล่าว
ด้านนายภัทระ คำพิทักษ์ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า บทบาทสื่อเเละความรับผิดชอบในการสร้างความตระหนักต่อสังคมในปัจจุบันนั้น พบว่า เทคโนโลยีเเละพื้นที่สื่อที่มีไม่จำกัด อาทิ กรณีภารกิจช่วยทีมหมูป่าที่มีการถ่ายทอดสดตลอดเวลา หรือพบการถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตาย ถือเป็นปัญหาในการละเมิดสิทธิ เเม้กระทั่งพื้นที่ออนไลน์หรือข่าวสารในอินเตอร์เน็ต คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนน้อย ซึ่งสื่อกระเเสหลักยังมีความอ่อนเเอเรื่องสิทธิมนุษยชน ตนมองว่าจึงควรเริ่มสร้างความตระหนัก ให้กับคนในสังคม คือควรเพิ่มความเข้มเเข็งของผู้บริโภค สร้างกลไกให้ภาคประชาชนรวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวัง Media Watch ร่วมกับองค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อเเละสภาวิชาชีพสื่อ จัดทำมาตรฐานจริยธรรมเพื่อใช้เป็นหลักการเเละเเนวปฏิบัติขององค์กรสะท้อนเจตจำนงของผู้ประกอบวิชาชีพเเละเจ้าของสื่อ ใช้ประโยชน์จากการมีส่วนร่วมเเละตรวจสิบทางสังคม การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มเเข็งเเละการจัดการความเสี่ยงด้านการสื่อสาร .-สำนักข่าวไทย