โรงแรมใบหยก 6 ม.ค. – “วราวุธ” เผยปี 67 ยอดเด็กเกิดลดอีก ท่ามกลางกระแสคอนเทนต์ทางโซเชียล แช่หน้าจอมือถือนานกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน หวั่นผลิตเกรียนคีย์บอร์ด ซ้ำปัญหาเด็กถูกบูลลี่ปลุกจิตมารทำร้ายตัวเอง คนอื่นในอนาคต ขอทุกฝ่ายสื่อสารเชิงบวก ดูแลลดการอยู่หน้าจอ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวตอนหนึ่งในงาน “พม. ชวนสื่อมวลชนร่วมออกแบบอนาคตไทย” ว่าจากข้อมูลปี 2567 พบว่าอัตราการเกิดใหม่ลดลงจากปี 2567 ถึง 1 แสนคน หรือวันนี้เด็กเกิดน้อยกว่า 5 แสนคนต่อปี ในขณะที่ผู้สูงอายุ ปรับเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จากปี 2566 มี 13.5 ล้านคน แต่ปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 14 ล้านคน ปี 2568 ก็จะเป็น 14.5 ล้านคน และปี 2569 จะเพิ่มเป็น 15 ล้านคนอย่างแน่นอน ดังนั้น จะทำอย่างไรให้จำนวนเด็กที่เกิดน้อยอยู่แล้วนี้เป็นคนที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ว่าเกิดน้อยยังด้อยคุณภาพอีก
นายวราวุธ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งสำคัญที่จะช่วยในการพัฒนาเด็กและเยาวชนของไทยให้โตไปเป็นอนาคตที่มีคุณภาพของประเทศ คือสื่อต่างๆ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าประชากรไทยเข้าถึงสื่อจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน มีการเข้าถึงสื่อมากถึง 98% และยังพบว่าใช้ข้อมูลอยู่กับจอนานถึง 12 ชั่วโมงต่อวัน
ส่วนผู้สูงอายุ ซึ่งเสมือนกับผู้อพยพเข้าสู่โซเชียลมีเดีย แต่รับหน้าที่ในการต้องเลี้ยงดูเด็กและเยาวชน ท่ามกลางเนื้อหาทางโซเชียลมีเดียที่มีหลากหลาย แต่ก็เปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะแง่หนึ่งเป็นแหล่งข้อมูล แหล่งความรู้ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ทั้งสื่อลามกอนาจาร การพนัน สิ่งผิดกฎหมายต่างๆ รวมไปถึงก่อปัญหา บูลลี่ทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็ก เยาวชน ในอนาคต เสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเองและทำร้ายผู้อื่น เหมือนที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ จึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องช่วยกันเฝ้าระวัง และนำเสนอเนื้อหาผ่านสื่ออย่างสร้างสรรค์
“วันนี้ พม. อยากจะรณรงค์ทุกฝ่าย ทุกคนที่มีสมาร์ทโฟน อุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ให้มานำเสนอเรื่องราวดีๆ ปลูกฝังสิ่งดีให้กับเด็กและเยาวชน การสื่อสารต้องระวังมาก วันนี้เรามีกฎหมายเกิดขึ้นมากมาย เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือกฎหมาย pdpa, พ.ร.บคุ้มครองเด็ก, อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมถึงมาตรฐานวิชาชีพของสื่อและจรรยาบรรณของสื่อ พวกเราที่เป็นผู้ใหญ่สามารถวางเส้นทางว่าเด็กจะสามารถเติบโตขึ้นมาเป็นคนลักษณะใด และเขาสามารถเลือกได้ว่าโตขึ้นมาแล้วอยากจะเป็นประโยชน์หรือจะเป็นภาระให้กับสังคมไทย เพราะวันนี้ยังมีเด็กเยาวชนอีกมากที่มีพลังมีความสร้างสรรค์ เราจะดึงพลังอย่างนั้นออกมาเป็นพลังเชิงบวกให้กับสังคมได้อย่างไรไม่ใช่อยู่ๆ ก็เป็นเกรียนคีย์บอร์ดไปวันๆ แต่ยังมีเยาวชนอีกมากที่ต้องการเป็นตัวอย่างที่ดี” นายวราวุธ กล่าว
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ล่าสุดน่าชื่นชมประเทศออสเตรเลีย โดยความพยายามและความกล้าหาญของรัฐบาลในการออกกฎหมาย ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี เข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดีย เป็นประเทศแรกของโลก อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการดูแลและแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน จึงไม่อาจจะนำบทเรียนของประเทศหนึ่งมาใช้กับอีกประเทศหนึ่งได้ ดังนั้น ในส่วนของประเทศไทย อาจจะไม่สามารถออกกฎหมายดังกล่าวได้แต่ ก็มีความพยายามนำเป็นตัวอย่าง เช่น จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีแนวทางในการจำกัดระยะเวลาในการอยู่กับหน้าจออย่างที่บอกว่าปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยใช้เวลาอยู่กับหน้าจอนานกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน ถือว่าเกินครึ่งของการใช้ชีวิตใน 1 วันแล้ว เพราะ 1 วันมี 24 ชั่วโมง ถ้านับช่วงเวลาที่ต้องพักผ่อน 8 ชั่วโมง เหลืออีก 16 ชั่วโมง แต่กลับใช้เวลาอยู่กับหน้าจอไปแล้วมากกว่า 12 ชั่วโมง ดังนั้น เราจะลดตรงนี้ลงได้หรือไม่ เช่น ไม่เกิน 6 ชั่วโมง เป็นต้น
นายวราวุธ ยังกล่าวอีกว่า ที่สำคัญที่สุดตั้งแต่ทำงานในกระทรวง พม. มาล่าสุดวันที่ 1 ธ.ค. 2567 ได้รับข่าวดีว่ากระทรวง พม. ติด 1 ใน 10 กระทรวงที่ประชาชนสนใจติดตามข่าวสารมากที่สุด จากเมื่อก่อนอาจจะถูกติดตามลำดับที่ 21 คือไม่ค่อยมีใครติดตามข่าวเลย แต่วันนี้สามรรถติดอันดับที่ 8 ได้ โดยได้รับความสนใจอยู่ที่ 39.8% ตนต้องขอบคุณปลัดกระทรวงและเจ้าหน้าที่ที่เปลี่ยนจากรองเท้าหนังมาเป็นรองเท้าผ้าใบ วิ่ง 4×100 ตามรัฐมนตรี เปลี่ยนวิธีคิด และการทำงานของกระทรวงจนประชาชนให้ความสนใจ เรื่องนี้ตนรู้สึกภูมิใจพอสมควร
อย่างไรก็ตาม วันนี้เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งในอนาคตจะเกิดน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้มีคุณภาพคับแก้ว ไม่ใช่เกิดน้อยแล้วยังได้คุณภาพ ดังนั้น พอหมอจึงทำนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤติประชากร ที่ต้องดูแลคนทุกช่วงวัย รวมถึงส่งเสริมวัยแรงงานให้อยากมีลูกสร้างครอบครัวเพื่อเพิ่มประชากร และที่สำคัญคือการเพิ่มประชากรที่มีคุณภาพเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศ หนึ่งในนั้นคือการสื่อสารที่รวดเร็ว ซึ่งในปี 2568 จะเน้นเรื่องนี้มากเพื่อให้ประชาชนนึกถึงเราเวลามีปัญหา สามารถโทร 1300 เพื่อปรึกษาและได้รับการช่วยเหลือย่างทันท่วงที
“การทำข่าวแต่ละเรื่องเกี่ยวกับ พม. นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งจากนี้ไปยิ่งมีความท้าทายมากว่าจะสร้างสื่ออย่างไรให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและพัฒนาตัวเอง มีการเรียนรู้เรื่องที่ดีจากสื่อ จากโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่ไปเจอสูตรทำระเบิดเวลา เจอสูตรสะเดาะกลอน สะเดาะล็อกอย่างไร ตนเข้าใจว่าสิ่งที่ถูกต้องกับถูกใจ บางครั้งก็ไม่ตรงกัน บางคนยิ่งดรามานี่ชอบเหลือเกิน ส่วนเรื่องดีๆ ไม่ค่อยสนใจติดตาม อย่างไร ก็ตามในเรื่องดีๆ นั้น แม้สังคมอาจจะไม่สนใจเท่าไร แต่หากเราเสนอไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วจะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคง โดยเฉพาะจะทำให้เกิดผลดีกับอนาคตของลูกหลานของเรา” นายวราวุธ กล่าว .-314-สำนักข่าวไทย