ทำเนียบฯ 11 มิ.ย.- “วิษณุ” ระบุ รายชื่อกรรมการสรรหา ส.ว. ไม่จำเป็นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยืนยัน ตั้ง ส.ว.-โหวตนายกฯ ไม่เป็นโมฆะ แจงเหตุที่ คสช.ไม่เปิดเผยตั้งแต่แรก เพราะกลัววิ่งเต้น ย้ำ พร้อมเปิดรายชื่อด้วยตัวเอง หาก คสช.ไม่เปิด
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ กรณีที่มีการยื่นร้องเรียนกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ซึ่งอาจส่งผลให้การแต่งตั้ง ส.ว.เป็นโมฆะ ว่า รายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ไม่จำเป็นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติว่าด้วยเรื่องการเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว. โดยมาตรา 269 เขียนไว้เพียงให้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.เท่านั้น
“ที่ คสช. ยังไม่เปิดเผยหลังจากการแต่งตั้งในตอนต้น เพราะเกรงจะเกิดการวิ่งเต้นขอตำแหน่ง เนื่องจากไม่ได้ใช้ระบบการสมัคร แต่ให้คณะกรรมการสรรหาไปเจาะหาตัวบุคคล แต่ คสช.จะเปิดเผยรายชื่อหลังจากนี้ ไม่ได้มีอะไรปกปิด หาก คสช.ไม่เปิดเผย ผมจะขอเปิดเองก็ได้ ไม่ใช่เรื่องลำบาก และไม่เป็นปัญหา ไม่ทำให้การแต่งตั้ง ส.ว. และการโหวตนายกรัฐมนตรีเป็นโมฆะ” นายวิษณุ กล่าว และว่า ส่วนรายชื่อสำรอง ส.ว.อีก 50 คน ได้ส่งรายชื่อไปที่ประธานวุฒิสภาแล้ว คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 1-2 วันนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า คณะกรรมการสรรหา ส.ว.ได้สรรหาตัวเองเข้าไปเป็น ส.ว.ด้วย นายวิษณุ ยืนยันว่าไม่มี เพราะตนอยู่ในคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ด้วย ไม่พบว่ามีการสรรหาตัวเองเข้าไปเป็น ส.ว. ซึ่งในการทำงาน กรรมการสรรหาแต่ละคนได้เสนอชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมขึ้นมาคนละ 50 – 60 ชื่อ มีคณะกรรมการสรรหาทั้งหมด 10 คน ลาออกไป 1 คน เหลือ 9 คน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด และกรรมการสรรหาก็ไม่ได้เสนอตัวเอง
นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อที่ประชุมได้พิจารณารายชื่อที่มีการเสนอแล้ว พบว่ามีกรรมการสรรหาถูกเสนอชื่อให้เป็น ส.ว.ด้วย กรรมการคนดังกล่าวที่ถูกเสนอชื่อ ก็ต้องออกจากที่ประชุม ซึ่งได้ทำเช่นนี้ตั้งแต่ขั้นตอนของคณะกรรมการสรรหา จนถึงการพิจารณาในส่วนของ คสช. โดยคณะกรรมการสรรหาได้รวบรวมรายชื่อทั้งหมด 395 รายชื่อ เพื่อส่งให้หัวหน้า คสช. โดยได้รายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจแล้วตั้งแต่ต้น .- สำนักข่าวไทย