ทำเนียบฯ 13 ก.ย.-โฆษกรัฐบาล เผย ครม.จ่อทำประชามติให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ รธน. ย้ำหลักการเว้นหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ นายกฯ สั่งทบทวนคณะกรรมการที่ คสช.แต่งตั้ง ถ้าไม่แจ้งความจำเป็นต้องมีภายใน 9 ต.ค. ให้ยกเลิก
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีป้ายแดง แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนัดแรก โดยแนะนำตัวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้นั่งให้สัมภาษณ์และแถลงข่าวครั้งแรกหลังเข้ามามีชีวิตงานการเมือง 1 ปี โดยการประชุมครม.วันนี้ (13 ก.ย.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการจัดตั้งคณะจัดงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ 72 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีหน้า เพื่อให้สมพระเกียรติและขอให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยมอบหมายให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาความเห็นต่างเรื่องรัฐธรรมนูญ ในหลักการคณะรัฐมนตรีมีนโยบายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งการแก้ไขจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ที่พรรคเพื่อไทยเคยยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้แล้วซึ่งผ่านสภาไป 2 วาระแล้ว แต่ไปติดที่คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญว่าให้เอากลับไปฟังเสียงประชาชนก่อน ดังนั้น ในรอบนี้จึงจะต้องทำประชามติซึ่งต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นว่าประชามติจะต้องถามเรื่องอะไรบ้าง ไม่ใช่คิดเอง แต่ต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม เมื่อได้แนวทางแล้วจะจัดทำประชามติเพื่อไปสู่การแก้ไขและธรรมนูญแต่ต้องเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยมีหลักการ ไม่แก้หมวดเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์
“ส่วนเรื่องการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้รับผิดชอบกำหนดเงื่อนไขแนวทางรายละเอียดและนำกลับมาเสนอในที่ประชุม ครม. โดยเร็วอาจจะเป็นการประชุมครั้งหน้าเลยก็ได้ โดยนายเศรษฐาย้ำว่าเป็นเรื่องนี้ประชาชนรอความชัดเจนอยู่ และที่สำคัญการอภิปรายสองวันในรัฐสภา มีคำแนะนำติติงมาจากหลายฝ่าย ที่ท้วงติงเรื่องแหล่งที่มาของเงิน และรัฐบาลน้อมรับนำกลับมาทบทวนว่าแนวทางเดิมที่เคยคิดไว้ และควรจะศึกษารายละเอียดให้รอบคอบเป็นการตอบสนองต่อคำท้วงติงของสมาชิกรัฐสภาเมื่อวานนี้” นายชัย กล่าว
“นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกกระทรวงไปดูมติ ครม. ของรัฐบาลที่ผ่านมาที่ได้ตั้งคณะกรรมการ 178 ชุด ถ้ากรรมการชุดใดไม่มีความจำเป็นหรือข้อเสนอที่ดีว่า ทำไมต้องมีคณะกรรมการชุดนั้นให้ยกเลิกทั้งหมด โดยให้รายงานกลับมาภายใน 25 กันยายนนี้ รวมถึงให้กระทรวง ทบวง กรม ไปทบทวนว่า คณะกรรมการใดที่ถูกตั้งโดยใช้อำนาจ คสช. ยังมีอะไรที่จำเป็นต้องคงไว้หรือไม่ โดยให้เสนอกลับมาภายในวันที่ 9 ต.ค. นี้ หากไม่เสนอมาถือว่ายกเลิกทั้งหมด” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
เมื่อถามว่าหากต้องยกเลิกคำสั่งคสช. นายกฯ จะใช้อำนาจอะไรในการยกเลิก หรือต้องออก พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่ง คสช. นายชัย กล่าวว่า มติ ครม.ก็ยกเลิกได้ ตอนนี้รัฐบาลนี้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ยกเลิกได้อยู่แล้ว
เมื่อถามย้ำว่าใช้มติ ครม. ยกเลิกคำสั่ง คสช. เช่น ม.44 ได้เลยหรือไม่ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คำสั่งอะไรก็ตามของ คสช. และ ครม. ต้องส่งกลับมาภายในวันที่ 9 ตุลาคมนี้ หากไม่เสนอมาใหม่ว่าจะขอใช้ต่อให้มีผลยกเลิกทันที ซึ่งเป็นกลไกที่มีอยู่แล้ว
เมื่อถามว่าเรื่องนี้เป็นข้อสั่งการของนายก หรือเป็นมติ ครม. โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นข้อสั่งการ เพราะข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีคือมติ ครม. และเท่ากับมติ ครม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายชัยระบุดังกล่าวทำให้สื่อมวลชนอึ้ง เนื่องจากคำสั่ง คสช. อยู่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ซึ่งการจะแก้ไข ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออก พ.ร.บ. เพื่อยกเลิก
เมื่อถามถึงรายละเอียดการงบประมาณที่จะใช้ในการลดราคาพลังงาน ค่าไฟ ค่าน้ำมันดีเซล โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะบริหารจัดการเรื่องภาษีสรรพสามิต เงินอุดหนุน ค่าเอฟที แต่การลดค่าไฟฟ้า ครม. ไม่มีอำนาจ คนที่มีอำนาจคือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน แต่การหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนำมาเสนอให้ ครม. รับทราบ ซึ่ง ครม. ไม่ท้วงติงและเห็นด้วย เพราะฉะนั้นคำตอบคือการบริหารต้นทุนต่างๆ ที่อยู่ในโครงสร้างพลังงาน ใช้การบริหารจัดการในกลุ่มนั้น ส่วนเงินจะใช้เงินสนับสนุนของรัฐบาลหรือไม่คือไม่ควักออกเพิ่ม อาจจะของเดิมที่เคยเก็บเยอะอาจจะเก็บน้อยลงและขออนุญาตไม่ลงรายละเอียด
“ในที่ประชุมบอกว่าหากมีคำถามจากสื่อมวลชนขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้ชี้แจง และเวลาที่สื่อมวลชนสงสัยอะไรให้แถลงมติ เวลาเจอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ท่านไปเจาะได้เลย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะอธิบายได้ละเอียดเพราะท่านเป็นคนทำมาเสนอ“ โฆษกรัฐบาล กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามกลับว่า ถ้าจะให้คุยกับรัฐมนตรีที่กำกับดูแลหรือหน่วยงานก็ให้เอารัฐมนตรีมาแถลงจะได้ชัดเจน ประชาชนกำลังรอเรื่องการลด ค่าไฟค่าน้ำมัน ว่าจะลดลงเท่าไหร่ และจากกระทบกับภาษีของประชาชนมากน้อยแค่ไหน ภาระของประเทศจะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน อันนี้คือสิ่งที่สื่อต้องการ ไม่ใช่ให้กลับไปถามรัฐมนตรี โฆษกรัฐบาล จึงบอกว่า ที่ท่านพูดมาว่าประชาชนอยากรู้ว่าค่าไฟ ค่าน้ำมันลดเท่าไหร่ มติครม. ชัดเจนอยู่แล้วว่า ลดหน่วยละเท่าไหร่ ซึ่งผู้สื่อข่าวจึงตอบกลับว่า สื่ออยากรู้ว่า ภาระที่ลูกหลานต้องใช้ในอนาคต เป็นสิ่งที่ประชาชนก็ต้องการรู้ด้วย.-สำนักข่าวไทย