กรุงเทพฯ 15 พ.ค. – ถูกจับตามองอย่างหนัก สำหรับ 250 ส.ว. ที่เพิ่งประกาศออกมาสดๆ ร้อนๆ ว่าเป็นสภาพี่น้องผองเพื่อน โดยเฉพาะบทบาทที่สำคัญ คือ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจ
ทันทีที่ได้เห็น 250 รายชื่อสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ มีเสียงวิจารณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า สภานี้น่าจะเป็นสภาพี่น้อง สภาพี่น้องผองเพื่อน สภาเพื่อนพ้องน้องพี่ เนื่องจากที่มา ส.ว. ล้วนแล้วแต่เป็นคนคุ้นหน้าคุ้นตา ไม่ว่าจะเป็นคนที่มาจากแม่น้ำ 5 สาย อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล เป็นบุคคลที่มียศนายพล รวม 101 นาย อดีต สนช. สปท. ซึ่งคาดการณ์ได้ว่า ทุกเสียงจะเข้ามาเลือกนายกรัฐมนตรีชื่อเดียวกัน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ว่า ให้อำนาจ ส.ว. ร่วมกับ ส.ส. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งมติเห็นชอบเลือกนายกรัฐมนตรี จะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ นั่นก็คือ 376 จาก 750 คน
มีคำยืนยันชัดเจนจากนายเสรี สุวรรณภานนท์ ว่า การโหวตนายกรัฐมนตรี ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่ต่างตอบแทน ทั้งยังไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะโหวต พล.อ.ประยุทธ์ และขอให้พี่น้อง ส.ว. ทำงานเพื่อลบข้อครหาตัวเอง
เช่นเดียวกับ สมชาย แสวงการ อดีต ส.ว. และ สนช. ที่เข้ามาเป็น ส.ว.อีกครั้ง ยืนยันที่มาของ ส.ว. ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อถึงเวลา เชื่อ ส.ว.จะใช้ดุลพินิจและมีวิจารณญาณในการเลือก เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ย้ำหาก ส.ส.รวมกันเกินกึ่งหนึ่งของสภา ก็ไม่ต้องกังวลเสียง ส.ว.
ส่วน วันชัย สอนศิริ ที่คืนสังเวียนสภาอีกครั้ง ย้ำว่า ผลงานของ ส.ว. จะพิสูจน์และสร้างความมั่นใจว่า ไม่ได้ถูกครอบงำจากรัฐบาล ยอมรับการต่างตอบแทนเป็นเรื่องปกติ หากตั้งคนมีความรู้ความสามารถเป็น ส.ว.
หากพรรคการเมืองจะรวบรวมเสียงได้ 376 เสียง โดยไม่อาศัยเสียง ส.ว. ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ 250 เสียงของสมาชิกวุฒิสภา ถือเป็นเสียงสำคัญที่จะส่งให้ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนคว้าเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ได้ แต่การบริหารด้วยเสียงปริ่มน้ำ ก็เหนื่อยไม่แพ้กัน. – สำนักข่าวไทย