กรมทรัพยากรธรณี 25 ส.ค.- กรมทรัพยากรธรณี เผยเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาร์ไม่กระทบรอยเลื่อนในไทย แต่พบความผิดปกติ ไม่มีอาฟเตอร์ช็อกตามมา ห่วงมีโอกาสเกิดแรงกว่า 6.8 ริกเตอร์
นายมนตรี เหลืองอิงคสุต ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรแร่ กรมทรัพยากรธรณี แถลงว่า เหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริกเตอร์ ที่ประเทศเมียนมาร์ วานนี้(24 ส.ค.) เกิดที่ระดับความลึกจากพื้นดินประมาณ 90 กม. ศูนย์กลางเกิดห่างจากเมืองช็อก (Chauk) 25 กม.ห่างจากกรุงเนปิดอว์ 200 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ 900 กิโลเมตร แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นผลมาจากการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย ลงใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ด้วยอัตรา 40-50 มิลลิเมตร/ปี ทำให้กลุ่มรอยเลื่อนอรากัน เกิดการเลื่อนตัวแบบย้อนกลับ ทำให้มีผู้เสียชีวิตในเมียนมาร์ 3 คน และบาดเจ็บหลายคน เจดีย์ในเมืองพุกาม เสียหายประมาณ 200 องค์
ขณะที่ประเทศไทย ประชาชนรู้สึกสั่นไหวทั่วไปในอาคารสูงของกรุงเทพฯ และ จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังรู้สึกได้ใน จ.แม่ฮ่องสอน เชียงราย และตาก
ด้านนายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สาเหตุหลักจากแผ่นเปลือกโลกอินเดีย มุดตัวลงมาใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย เป็นการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนในแนวดิ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบเฉพาะกับรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้ๆ เท่านั้น โดยแผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่กระทบกับรอยเลื่อนในประเทศไทย เพราะอยู่ห่างไกลมาก โดยรอยเลื่อนใกล้สุด คือ รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอนก็ยังห่างถึง 400 กิโลเมตร จึงไม่มีผลกระทบ แต่การที่ประชาชนรับรู้แรงสั่นไหวได้มากในอาคารสูงในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เพราะกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน ซึ่งสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้ใหญ่ขึ้น ที่สำคัญครั้งนี้เป็นแผ่นดินไหวระยะไกลที่มีความถี่ของการสั่นไหวสั่นพ้องกับการโยกตัวของอาคารสูงในกรุงเทพฯ ทำให้อาคารโยกมากขึ้น แต่ไม่รับรู้การสั่นไหวในอาคารเตี้ยหรือพื้นราบ
นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า จากการติดตามพฤติกรรมแผ่นดินไหวครั้งนี้ พบว่าได้เกิดแผ่นดินไหวในจุดนี้ จำนวน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2559 ขนาด 4.9 และ วันที่ 1 ส.ค. 2559 ขนาด 5.1 และเกิดแผ่นไหวหลัก (เมนช็อก) เมื่อวานนี้ (24 ส.ค. ) ขนาด 6.8 ริกเตอร์ ซึ่งปกติเมื่อเกิดแผ่นดินไหวก็จะมีอาฟเตอร์ช็อก ขนาดเล็กกว่าแผ่นดินไหวหลัก เพื่อคลายพลังงานตามมา แต่เหตุการณ์ครั้งนี้จนถึงวันนี้ ณ ขณะนี้ เวลา 10.00 น. ก็ยังไม่มีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นเลย ซึ่งเป็นสิ่งผิดปกติที่ไม่ค่อยเจอ ทำให้นักธรณีวิทยากังวลค่อนข้างมากและคาดเดาสถานการณ์ยาก โดยสถานการณ์เลวร้ายสุด คือ อาจจะมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่าแผ่นดินไหวหลัก หรือมากกว่า 6.8 ก็เป็นได้ เพราะกลุ่มรอยเลื่อนอรากันนี้ในอดีตเคยเกิดแผ่นดินไหวสูงสุดถึง 7.6 ริกเตอร์ ในปี 1946
ขณะนี้นักธรณีวิทยาต้องเฝ้าระวังและจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเพิ่มเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามพฤติกรรมแผ่นดินไหวตลอดเวลา โดยเฉพาะใน 24 ชั่วโมงแรก เพื่อประเมินความเสี่ยงและเฝ้าต่อเนื่อง จนกว่าจะเกิดอาฟเตอร์ช็อกขึ้น จากเดิมที่ใช้สถานีวัดคลื่นสั่นสะเทือนอัตโนมัติของกรมทรัพยากรธรณี จำนวน 60 แห่ง และของกรมอุตุนิยมวิทยา. – สำนักข่าวไทย