กรุงเทพฯ 25 ก.พ. – อีอีซีเดินหน้าวางแผนพัฒนามหานครการบินภาคตะวันออกรอบสนามบินอู่ตะเภา มั่นใจทำให้เกิดการลงทุนปีละ 300,000 ล้านบาท 5 ปีจากนี้ไปมียอดลงทุนจากเอกชนรวม 1.5-1.7 ล้านล้านบาท
สำนักงานอีอีซีนำเสนอข้อมูล “โครงการศึกษาแนวทางการพัฒนามหานครการบินภาคตะวันออกรอบสนามบินอู่ตะเภา” ซึ่งครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานทั้งท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือสัตหีบ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นนักลงทุนเอกชนเป้าหมาย ซึ่งอีอีซีวางแผนพัฒนามหานครการบินภาคตะวันออกรอบสนามบินอู่ตะเภาในช่วง 10 ปีนับจากนี้ไป แบ่งเป็นชั้นใน 10 กิโลเมตรรอบ ๆ สนามบินอู่ตะเภา และเขตชั้นกลาง 30 กิโลเมตรจากสนามบิน สามารถเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูง ภายในเวลา 17-19 นาที และทางถนนไม่เกิน 40 นาที และเขตชั้นนอก 60 กิโลเมตรจากสนามบิน กำหนดกรอบเวลาในการพัฒนาประมาณ 5-15 ปี นับจากโครงการสนามบินอู่ตะเภาและรถไฟความเร็วสูงเสร็จ
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า การเดินหน้า 5 โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซี ทำให้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การลงทุนที่เคยติดลบเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.5 ในไตรมาส 3 ปี 2561 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 ในไตรมาส 4 ปี 2561 ส่งผลให้จีดีพีประเทศโตร้อยละ 4 สำนักงานอีอีซีประเมินว่าผลจากการลงทุน 5 โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซี ซึ่งจะได้ผู้ชนะการประมูลภายในเดือน มีนาคม-เมษายนนี้ และเริ่มลงทุนภายในช่วง 5 ปี ทำให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนปีละ 300,000 ล้านบาท รวมการลงทุน 5 ปี ประมาณ 1.5-1.7 ล้านล้านบาท และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยโตได้ในระดับร้อยละ 5
ทั้งนี้ มหานครการบินภาคตะวันออกจะเป็นรูปแบบใหม่ของการพัฒนาเมืองของประเทศไทยที่จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่อีอีซี ให้ประสบผลสำเร็จ โดยมีผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ภาคตะวันออกและประเทศไทยโดยรวม ส่งเสริมภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการของประชาชนในพื้นที่ (MICE) เกิดต้นแบบการพัฒนาเมืองการบินที่มีแบบแผน ทิศทางที่ชัดเจนและเป็นระบบเพื่อต้นแบบประเทศในการพัฒนาต่อไป เกิดความต้องการบุคลากรในสายงานหลายด้านสร้างอาชีพ รายได้ดีใหม่ ลดปัญหาการว่างงาน มีโครงสร้างที่เชื่อมโยงกันแบบไร้รอยต่อ ทำให้เกิดจุดแข็งที่โดดเด่น ลดข้อจำกัดด้านเวลาและต้นทุนธุรกิจ เพิ่มรายได้และจีดีพีกับพื้นที่ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวโดยไม่กระจุกอยู่เฉพาะกรุงเทพมหานคร เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย