กรุงเทพฯ 8 ม.ค. – เลขาฯ อีอีซี เผยประชุมร่วมหน่วยงาน-เอกชน หารือแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หลังล่าช้า ชี้หากเริ่มก่อสร้างทันปีนี้จะเปิดให้บริการปี 2572 ได้ตามกำหนด เผยตั้งเป้าดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติสู่อีอีซีปีละ 1.2 แสนล้านบาท
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวในงาน โครงการตลาดทุนพบภาครัฐ ครั้งที่ 1/2568 “เลขาธิการ EEC พบนักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบัน” โดยระบุว่า ตั้งแต่ ปี 2561 ถึง ไตรมาส 3 ปี 2567 มีการขอออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คิดเป็นมูลค่า 1,731,625 ล้านบาท โดย 5 ประเทศที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมลงทุนมากที่สุด คือ จีน ที่ชนะแซงหน้า ญี่ปุ่น ลงมาเป็นอันดับสอง ในปี 2567 รองลงมาเป็น สิงคโปร์ ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 20 กันยายน 2567 สำนักงานอีอีซีได้หารือกับนักลงทุน 139 ราย มีการยื่นขอลงทุน และอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญา 12 ราย วงเงินประมาณ 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันอีอีซียังตั้งเป้าดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติให้ได้ 1.2 แสนหมื่นล้านบาทต่อปี
ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ล่าช้าจากทั้งสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ส่งมอบพื้นที่เพื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการลงนามในสัญญาสัมปทานกับเอกชนที่ชนะการประมูล ตั้งแต่ปี 2562 แต่ยังไม่สามารถเริ่มก่อสร้างได้จนถึงขณะนี้ เนื่องจากติดปัญหาการขอแก้ไขสัญญาของเอกชน
เลขาธิการอีอีซี เปิดเผยเพิ่มเติมว่าช่วงบ่ายวันนี้ สำนักงานอีอีซี, รฟท., เอกชนที่ได้รับสัมปทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมประชุมหารือรายละเอียดการแก้ไขสัญญา เพื่อส่งอัยการ ซึ่งกระบวนการตรวจสอบจะใช้เวลาไม่เกิน 45 วัน หากผ่านจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และเอกชนเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามกำหนดในปี 2572. -516-สำนักข่าวไทย