กรุงเทพฯ 3 ก.พ. – อีอีซี จับมือ ธ.ยูโอบี ขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี เจาะนักลงทุนตรงกลุ่มมากขึ้นเตรียมแผนรองรับหากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินล่าช้ากว่า เม.ย.68 ระบุนโยบายขึ้นภาษีสินค้าของ “ทรัมป์” ยังไม่กระทบลงทุนไทย แต่ควรศึกษาประเทศที่ได้ผลกระทบ เพื่อเตรียมรับมือ
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี และธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ลงนามในบันทึกความเข้าใจ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ และเสริมสถานะให้ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำสำหรับนักลงทุนต่างชาติ โดยภายใต้ความร่วมมือนี้ ทั้งสองหน่วยงานจะนำความเชี่ยวชาญและทรัพยากรที่มีมาร่วมนำเสนอโซลูชันทางการเงินและบริการให้คำปรึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนต่างชาติ โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงกระบวนการลงทุนให้ราบรื่นยิ่งขึ้น ยกระดับความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ และส่งเสริมอุตสาหกรรมหลักตามกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย อันได้แก่ ยานยนต์ยุคใหม่ การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัลและนวัตกรรม รวมถึงเศรษฐกิจสีเขียวและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า การร่วมมือกับธนาคารยูโอบี สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการขับเคลื่อนเป้าหมายทางเศรษฐกิจของไทย การดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธนาคารยูโอบีในประเทศไทย และเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน จะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกับนักลงทุนที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ ความร่วมมือนี้จะช่วยเสริมความสามารถของ สกพอ.ในการเสนอโซลูชันทางการเงินแบบครบวงจร ไม่เพียงแต่สำหรับโครงการในประเทศเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับฐานลูกค้าที่หลากหลายและขยายตัวเพิ่มขึ้นของธนาคารยูโอบี ทำให้สามารถพูดคุยกับนักลงทุนได้ตรงกลุ่มมากขึ้น โดยทั้งสององค์กรมุ่งมั่นดึงดูดการลงทุนมูลค่าสูงที่ส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างโอกาสให้กับชุมชนในประเทศไทย
สำหรับในพื้นที่อีซีขณะนี้มีนักลงทุนจากจีนมากที่สุด รองลงมาเป็น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐ โดยสิงคโปร์ เป็นฐานสำคัญด้านการเงินในภูมิภาค โดยเฉพาะการตั้งบริษัทในสิงคโปร์และมาลงทุนในประเทศที่ 3
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยอมรับว่ามีความล่าช้ามาถึง 5 ปีแล้ว ซึ่งล่าสุดคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน เมษายน 2568 นั้น หากไม่สามารถก่อสร้างได้ตามกำหนดจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องการร่วมทุนว่ายังสามารถดำเนินการต่อได้หรือไม่ หากไม่ได้จะต้องเตรียมแผนรองรับอย่างไร
เลขาธิการอีอีซี ยังกล่าวถึงกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโก แคนาดา และจีน มองว่าไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ในเชิงการลงทุน แต่อาจจะส่งผลบ้างในกลุ่มธุรกิจส่งออกในโครงการ ซึ่งไทยน่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ไทยควรต้องศึกษาแนวทางที่สหรัฐจะดำเนินการกับประเทศที่ได้ดุลการค้ามากเป็นอันดับๆ เพื่อเตรียมการตั้งรับได้
นายริชาร์ด มาโลนี่ย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า การร่วมมือระหว่างธนาคารยูโอบี และ สกพอ. แสดงถึงความมุ่งมั่นของเราในการมีส่วนร่วมในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเราจะให้การสนับสนุนแบบครบวงจรแก่นักลงทุนทั้งในประเทศ ภูมิภาค และระดับนานาชาติ เพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นศูนย์กลางชั้นนำด้านนวัตกรรมและการพัฒนาในภูมิภาคนี้ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจของ สกพอ.
ความร่วมมือครั้งนี้จะครอบคลุมโครงการต่างๆ ที่จะดำเนินการร่วมกัน อาทิ แคมเปญส่งเสริมการลงทุน การจัดโรดโชว์สำหรับนักลงทุน และการสนับสนุนผ่านหน่วยงานที่ปรึกษาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDIA) ของธนาคาร ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2563 หน่วยงาน FDIA ของยูโอบีได้สนับสนุนให้บริษัทกว่า 450 แห่งขยายธุรกิจเข้าสู่ประเทศไทย โดยคาดว่าสร้างมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศกว่า 45,000 ล้านบาท และสร้างโอกาสการจ้างงานให้กับคนไทยมากกว่า 31,000 ตำแหน่ง. -516-สำนักข่าวไทย