กรุงเทพฯ 1 ก.พ. – สถาบันอาหารเผยปี 61 ไทยส่งออกอาหารไปตลาดโลก 1.03 ล้านล้านบาท มากเป็นอันดับ 12 ของโลก ดีขึ้นจากปี 60 อยู่ในอันดับ 14 จี้ตามจีนติด ๆ ส่วนปีนี้คาดว่าจะส่งออกเพิ่มเป็น 1.2 ล้านล้านบาท
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยภาพรวมการส่งออกของไทยปี 2561 และแนวโน้มปี 2562 ว่า ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหารซึ่งมีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสถาบันอาหารร่วมบูรณาการข้อมูล รายงานว่า การส่งออกอาหารของไทยปี 2561 มีส่วนแบ่งตลาดโลก 2.36 ส่งออกมากเป็นอันดับที่ 12 ดีขึ้นจากเดิมอยู่อันดับที่ 14 รองจากประเทศจีน และแซงประเทศอินเดีย โดยภาพรวมส่งออกปี 2561 มีมูลค่ารวม 1,031,956 ล้านบาทหรือคิดเป็นมูลค่า 32,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 และร้อยละ 7.3 ในรูปเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 385,499 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่า 11,0937 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 และร้อยละ 6.2 ในรูปเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ
สำหรับสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งยังคงเป็นข้าว มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 17.5 มูลค่าส่งออก 180,116 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ ไก่ ร้อยละ 10.7 มูลค่าส่งออก 110,116 ล้านบาท อันดับที่ 3 ถึงระดับ 5 คือ น้ำตาลทราย ปลาทูน่าปรุงแต่งและกุ้ง สัดส่วนร้อยละ 8.5 7.1 และร้อยละ 5.7 ตามลำดับ ตลาดส่งออกสำคัญของไทยปี 2561 โดย 8 ใน 10 ประเทศอยู่ในเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกอาหารของไทยอันดับ 1 รองลงมาได้แก่ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ตลาดอาหารส่งออกสำคัญของไทย 6 ใน 8 ประเทศอยู่ในภูมิภาคอาเซียน โดยตลาดอาเซียนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยมูลค่าส่งออกรวม 293,172 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28.4 ของมูลค่าส่งออกอาหารทั้งหมด รองลงมา คือ กลุ่มประเทศอเมริกาเหนือร้อยละ 11.8 อันดับ 3 แอฟริการ้อยละ 9.1 อันดับ 4 สหภาพยุโรป (อียู) ร้อยละ 8.9 และอันดับ 5 โอเชียเนียร้อยละ 3.4
ส่วนแนวโน้มการส่งออกอาหารไทยปี 2562 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 จากปี 2561 สินค้าที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 8 กลุ่ม ได้แก่ ไก่ ปลาทูน่าปรุงแต่ง กุ้ง มันสำปะหลัง เครื่องปรุงรส มะพร้าว สับปะรด และอาหารพร้อมรับประทาน สินค้าที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าวและน้ำตาลทราย โดยสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ข้าว ไก่ น้ำตาลทราย ปลาทูน่าปรุงแต่งและกุ้ง
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกปี 2562 มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง จากปี 2561 สำหรับปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การปลดล็อคใบเหลืองประมงไทยของอียู ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นสินค้าประมงไทยมากขึ้น สินค้าอาหารของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ clmv ที่สินค้าไทยครองตลาดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50-60 รวมทั้งตลาดอาเซียนเดิมที่เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าจำพวกข้าว น้ำตาล มันสำปะหลัง อาหารแปรรูป รวมทั้งอาหารฮาลาล ขณะที่ด้านปัจจัยราคาพลังงานอยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพ อีกปัจจัยสำคัญ คือ การเมืองไทยมีความชัดเจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจ โดยมีการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก ได้แก่ ความผันผวนการเมืองระหว่างประเทศและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับประเทศคู่ค้า ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้กำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อการจับจ่ายใช้สอยลดลงตามไปด้วย แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะส่งผลต้นทุนการประกอบธุรกิจสูงขึ้น การแข่งค่าของเงินบาทกระทบต่อสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปแบบโดยเฉพาะสินค้าเน้นตลาดต่างประเทศจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา รวมถึงรายได้ที่แปลงกลับมาเป็นเงินบาทจะลดลง ทำให้ราคาสินค้าวัตถุดิบการเกษตรลดลงตามไปด้วย รายได้ผู้บริโภคลดลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอีกปัจจัย คือ การที่สหรัฐตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย 11 รายการ อยู่ในกลุ่มสินค้าอาหารที่มีส่วนแบ่งตลาดเกินร้อยละ 50 ในตลาดสหรัฐ. -สำนักข่าวไทย