กทม.14 ม.ค.-กทม.ประชุมร่วมกับทุกหน่วยงาน ถกแก้วิกฤตฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน PM 2.5 พร้อมระดมเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำ กระจายจุดเสี่ยงทั่วกรุง ย้ำ ขอให้ทุกฝ่ายบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานประชุมร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ตลอดจนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หารือถึงแนวทางแก้ปัญหาปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ซึ่งขณะนี้เกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วกรุง โดยมี พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวภายหลังหารือเกือบ 2 ชั่วโมง ว่า กทม.ดำเนินการแก้ ปัญหาระยะสั้นมาตั้งแต่ช่วงเดือนธ.ค.ปีที่ผ่านมา กำชับทั้ง50 เขตลงพื้นที่ล้าง ทำความสะอาดถนน ตามเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมระดมเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำ เพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ ลดฝุ่นละอองเป็นประจำทุกวัน ซึ่งการใช้เครื่องฉีดพ่นละอองน้ำ ยอมรับอาจไม่สามารถลดฝุ่นละออง PM2.5 ได้หมด แต่ช่วยบรรเทาสถานการณ์ให้คลี่คลายลงได้พร้อมลงพื้นที่แจกหน้ากาก N95 ให้กับพี่น้องคนกรุงในจุดเสี่ยง จนกว่าสภาพอากาศจะดีขึ้น แม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุก็ตาม
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันได้บังคับใช้กฎหมายกวดขันผู้รับเหมาก่อสร้างอาคาร รถไฟฟ้า อุโมงค์ สะพานข้ามแยก ต้องมีมาตรการป้องกันปัญหาฝุ่นละออง ล้างล้อรถบรรทุกก่อนออกจากสถานที่ก่อสร้างทุกครั้ง และห้ามมิให้เผาหญ้า หรือขยะในพื้นที่โล่งแจ้งเด็ดขาด พร้อมประสาน บก.จร.เพิ่มมาตรการตรวจจับรถควันดำ รวมทั้งเร่งระบายรถบริเวณที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะการกำหนดเวลาตั้งแต่ 05.00-10.00 น. และเวลา 15.00-21.00 น. ห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่ วิ่งเข้ากรุงเทพเด็ดขาด
ส่วนมาตรการระยะยาว กทม.กำหนดแนวทางดำเนินงานร่วมกับทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้า โครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทั้งระบบ ครอบคลุมพื้นที่ กทม.โดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้การจราจรคล่องตัวมากขึ้น มลพิษทางอากาศลดลง ตลอดจนผลักดันการปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานเครื่องยนต์ใหม่ และคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงให้สูงขึ้น หรือควบคุมการใช้รถยนต์ที่มีอายุการใช้งาน 7 ปีขึ้นไป พร้อมส่งเสริมให้รถโดยสารสาธารณะ ใช้เชื้อเพลิงปลอดมลพิษ แทนการใช้เครื่องยนต์ดีเซล
ด้านนายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน เกิดจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล และรถบรรทุกขนาดใหญ่ ร้อยละ 60 และการเผาขยะในที่โล่งแจ้ง อีกร้อยละ 35 ที่เหลือ คือปัจจัยทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดว่า หลังจากนี้สภาพอากาศจะดีขึ้นแต่คนกรุงและปริมณฑล ยังคงต้องเผชิญกับอากาศลักษณะเช่นนี้เป็นช่วงๆ ไปจนถึงเดือนมีนาคม หรือหมดฤดูหนาว จะถึงขั้นประกาศ เป็นเขตควบคุมมลพิษหรือไม่ ต้องรอดูความเหมาะสมอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน น.ส.วรรธนพร เทียมปฐม นักวิทยาศาสตร์ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรระบุว่ากรมฝนหลวงฯได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่กรุงเทพ ที่มีเส้นทางการบินขึ้นลงหนาแน่นทำให้ต้องออกห่างจากพื้นที่ตรงนี้ประมาณ 70 ไมล์ ประกอบกับช่วงนี้เข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้ความชื้นสัมพัทธ์ไม่ถึงร้อยละ 60 จาก 2 ปัจจัยดังกล่าวทำให้ที่ผ่านมาไม่สามารถเปิดปฏิบัติการฝนหลวงได้ แต่ในช่วงวันที่ 15-19 ม.ค.นี้ ความชื้นสัมพัทธ์จะเพิ่มสูงขึ้น และมีลมทางทิศตะวันออกพัดผ่านเข้ามา กรมฝนหลวงฯ จึงตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วที่ จ.ระยอง พร้อมเปิดปฏิบัติการทันทีเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย.-สำนักข่าวไทย