กทม. 8 ม.ค. – เงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 7 ปี ดันสินค้าส่งออกแพงขึ้น เช่นเดียวกับน้ำมันขายปลีก เริ่มขยับราคาตามตลาดโลก
เริ่มต้นปี มีตัวเลขเศรษฐกิจมาคุยกันหลากหลายเรื่อง เริ่มด้วยข่าวร้ายราคาน้ำมันเริ่มขยับขึ้นเป็นครั้งแรกของปี ในขณะที่บาทแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน แม้ต้นทุนนำเข้าลดลง แต่สินค้าส่งออกจะแพงขึ้น ผู้ส่งออกก็หวังว่าแบงก์ชาติจะเข้ามาดูแล
ใครใช้รถก็แวะปั๊มน้ำมันด่วน ผู้ค้าน้ำมันทุกรายประกาศขึ้นราคา โดยล่าสุด ปตท. โดยบริษัท ในเครือ คือ พีทีทีโออาร์ และบางจาก ขึ้นราคาน้ำมัน ดีเซล 40 สตางค์ต่อลิตร และขึ้นราคาเบนซินและแก๊สโซฮอล์ 50 สตางค์ต่อลิตรมีผลพรุ่งนี้ ในขณะที่เชลล์ได้ขึ้นราคามีผลตั้งแต่เมื่อเช้าที่ผ่านมา ทุกผลิตภัณฑ์ 50 สตางค์ต่อลิตร ก็เป็นผลมาจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่พุ่งขึ้นเพราะกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจับมือลดกำลังผลิตที่คาดว่าจะจริงจังมากขึ้น
โดยเช้านี้เงินบาท แข็งค่าขึ้นถึงระดับ 31.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยว่า รู้สึกวิตกกังวลให้กับผู้ส่งออก โดยเฉพาะผู้ส่งออกข้าว เพราะการสั่งซื้อข้าวเดือนกุมภาพันธ์การคิดราคาช่วงเงินบาทแข็งค่า ทำให้ข้าวไทยสูงขึ้นและอาจทำให้หลายประเทศสั่งซื้อข้าวจากประเทศอื่นแทน จึงขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศ กำกับดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเกินกว่าประเทศอื่นมากเกินไป เพราะอาจทำให้การแข่งขันข้าวไทยในตลาดโลกประสบปัญหา
อย่างไรก็ตาม ปี 2562 การส่งออกข้าวภาคเอกชน และภาครัฐ ประเมินแตกต่างกัน โดยเอกชนมองว่า น่าจะส่งออกไม่เกิน 10 ล้านตัน เพราะว่าหากเปรียบเทียบราคาข้าวประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม อินเดีย ข้าวขาว 5% ต่างกันถึง 15-20 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หลายประเทศหันไปสนใจสั่งซื้อข้าวเวียดนามและอินเดียแทนประเทศไทย รวมทั้งกระแสข่าวอินโดนีเซียเตรียมประกาศลดปริมาณสั่งซื้อข้าวจากทั่วโลก เดิมเคยนำเข้า 3 ล้านตัน ลดเหลือ 2 ล้านตัน
โดยกรมการค้าต่างประเทศ ประเมินว่า การส่งออก ข้าวจะไม่ต่ำกว่า 10 ล้านตัน เพราะมีแผนที่จะส่งเสริมและผลักดันการส่งออกข้าวคุณภาพดี ลักษณะพิเศษ เช่น ข้าวหอมมะลิ, ข้าวสี, ข้าวออร์แกนิก, ข้าว กข43 รวมถึงผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากข้าว ซึ่งสามารถทำราคาได้ดี ส่วนข้าวที่ต้องแข่งขันกับคู่แข่ง อย่างข้าวเจ้า ก็มั่นใจว่าจะทำตลาดสู้ได้ เพราะข้าวไทยมีคุณภาพดีกว่า ผู้ซื้อให้การยอมรับ
สำหรับยอดส่งออกข้าวปีที่แล้วนั้นมีปริมาณ 11.13 ล้านตัน มูลค่า 180,000 ล้านบาท เพราะได้ระบายสตอกภาครัฐหมดแล้วรวม 16.84 ล้านตัน มูลค่า 1.45 แสนล้านบาท ให้ไม่มีแรงกดดันกำจัดอุปทานส่วนเกิน ตลาดข้าวเข้าสู่ภาวะกลไกตลาดตามปกติ เรียกคืนความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ และยุติการนำข้ออ้างเรื่องสตอกข้าวของรัฐไปกดราคาข้าวฤดูกาลผลิตใหม่ที่เกษตรกรควรจะได้รับได้อย่างแท้จริง
อีกส่วนหนึ่งของความเห็น ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินแนวโน้มค่าเงินบาทปีนี้ คาดว่ามีโอกาสแข็งค่ากรอบการเคลื่อนไหว 31.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า สาเหตุสำคัญคือ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ออกมาอ่อนแอกว่าที่คาด เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการสหรัฐ ที่ออกมาต่ำกว่าคาดเพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ และทำให้การคาดการณ์เกี่ยวกับจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีความไม่แน่นอนมากขึ้น และต้องจับตาการเจรจา การค้าระหว่างสหรัฐและจีนซึ่งขณะนี้กำลังพูดคุยกันอยู่ ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่าถ้าทั้งคู่เจรจามีแนวโน้มดีขึ้นอีก อาจยิ่งหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อได้อีก อย่างไรก็ตาม จากที่ประเทศไทยยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ประมาณ 3,000-4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ และนักลงทุนยังคงมองประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัยสำหรับการลงทุน (Safe Heaven) จะมีเงินทุนไหลเข้าหนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจไทยพาณิชย์หรืออีไอซีได้ปรับลดเศรษฐกิจไทยปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 3.8 ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 4 และชะลอตัวจากปีก่อนที่เติบโตร้อยละ 4.2 ประกอบกับผลกระทบจากสงครามการค้าที่ชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกของไทยชะลอลงในปีนี้ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากเดิมคาดโตร้อยละ 7
ด้าน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สภาผู้ส่งออก ประเมินการส่งออกในปีนี้คาดขยายตัวร้อยละ 5 บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.0 (หรือบวก/ลบ 0.5) บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งห่างไกลจากปัจจุบันที่เงินบาท อยู่ที่ 31.95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสภาผู้ส่งออกจับตามองสงครามการค้าสหรัฐและจีนที่กำลังเจรจากันอยู่หากยืดเยื้อ จะเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและความเชื่อมั่นต่อการลงทุน โดยที่จีนได้ประกาศนโยบายเริ่มลดภาษีสินค้านำเข้า-ส่งออกกว่า 700 รายการ ในวันที่ 1 ม.ค. 62 เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการนำเข้าสินค้าอื่นทดแทนสินค้าที่ต้องนำเข้าจากสหรัฐ และเป็นการอัดฉีดสภาพคล่องครั้งใหญ่ และอาจทำให้สินค้าไทยอาจถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดในจีน โดยปีที่แล้วอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจากผลกระทบสงครามการค้า ก็ทำให้การส่งออกชะลอตัว เช่น กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ทำให้สภาการส่งออกคาดปีที่แล้วการส่งออกขยายตัวในกรอบร้อยละ 7-7.3 ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ร้อยละ 9 .- สำนักข่าวไทย