อิมแพ็ค เมืองทอง 5 ก.ย.-รองเลขาฯ สปส.เผยเตรียมเพิ่มเงินสมทบ-ขยายอายุเกษียณ หวังปฏิรูประบบเงินชราภาพ แก้ปัญหาเงินชราไม่พอจ่ายของกองทุน และความยากจนในวัยเกษียณ คาดรู้ผล มิ.ย.60
นางพรพรรณ ศุภนคร รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวในงานเสวนาเรื่องการปฎิรูปกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพอย่างไรให้ยั่งยืน ที่อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี ว่า ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ขณะที่วัยแรงงานไม่เตรียมความพร้อมรับมือวัยเกษียณ ประกอบกับในแต่ละปี มีผู้ประกันตนเกษียณอายุรับเงินกรณีชราภาพมากขึ้น ขณะที่วัยแรงงานจ่ายเงินสมทบกลับลดลง
ทั้งนี้ ปี 2558 มีผู้ประกันตนเกษียณอายุ 60,000 คน และปี 2559 คาดเพิ่ม ขึ้นกว่า 1 แสนคนและเฉลี่ย สปส.จ่ายเงินกรณีชราภาพ 260,000 บาทต่อคน อาจทำให้ในอีก40 ข้างหน้าเงินกองทุนฯที่มีกว่า1.3 ล้านล้านบาท ต้องหมดลง สปส.จึงเตรียมปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ โดยมีแนวทางคือ 1.การขยายอายุเกษียณจากปัจจุบันอยู่ที่ 55 ปี เป็น 60 ปีแบบขั้นบันได 2.ปรับฐานเงินเดือนที่ใช้ในการคำนวณเงินชราภาพจาก 1,650-15,000 บาท เป็น3,600- 20,000 บาทและ 3.ปรับสูตรคำนวณการจ่ายเงินบำนาญ จากเดิมคำนวณจากเงินเดือน 5 ปีสุดท้ายที่จ่ายเงินสมทบ เป็นคำนวณเงินเดือนเฉลี่ยตั้งแต่เริ่มส่งจนถึงเกษียณ
นอกจากนี้ สปส.ยังมีแนวคิดเบื้องต้นว่าจะเพิ่มอัตราเงินสมทบที่จัดเก็บเข้าสู่กองทุนชราภาพจากร้อยละ 3 ของเงินเดือนเป็นร้อยละ 5-6 ซึ่งมาตรการทั้งหมด ทำให้กองทุนสามารถอยู่ได้ถึงปี2597คาดจะได้ข้อสรุป ประมาณเดือน มิ.ย.2560
ขณะที่นายวรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวว่า หากเทียบสัดส่วนระหว่างเงินบำนาญกับเงินสมทบ พบว่า เฉลี่ยผู้ประกันตนได้เงินบำนาญ มากกว่าเงินสมทบที่จ่ายต่อเดือนถึง 12 เท่า และรับเงินบำนาญเพียง 5 ปีก็คุ้มแล้ว ถือเป็นสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนมีแต่ได้กับได้ จึงเห็นด้วยกับการปฏิรูประบบกองทุนเงินชราภาพ เพราะเดิม ตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนฯ คนจ่ายเงินสมทบต่อคน รับเงินบำนาญ มีอัตราส่วน 14 ต่อ 1 ถือว่าสมดุล แต่ปัจจุบันลดลงเป็น 3 ต่อ 1 คาดอีก20 ข้างหน้าอาจเหลือแค่ 2 ต่อ1 หากไม่มีการปฏิรูปกองทุนอาจ ไม่สามารถไปต่อได้แน่นอน แต่เรื่องการเพิ่มเงินสมทบและฐานเงินเดือน เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญเพิ่มขึ้น มองว่าอาจไม่เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้กองทุนมีเงินเพิ่มขึ้น เพราะกรณีนี้รับมากก็จ่ายมาก
ส่วนเรื่องการขยายอายุเกษียณ ก็เห็นด้วยเพราะส่งเสริมการทำงานระยะยาวมากขึ้น ทำให้วัยเกษียณรับเงินบำนาญลดลง รายจ่ายลดลง แต่อาจกระทบผู้ประกันตน เนื่องจากได้รับเงินบำนาญสั้นลง นอกจากแนวทางดังกล่าวแล้ว ได้เสนอว่า สปส.ไม่ควรลืมเรื่องการปฏิรูปการบริหารกองทุนฯ ของตัวเองให้มีผลตอบแทนมากขึ้น โดยไม่รอเพียงเงินสมทบจากผู้ประกันตนและนายจ้างเพียงอย่างเดียวด้วย
ขณะที่นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หากไม่รีบปฏิรูปกองทุนฯ นั่นหมายความว่า วัยแรงงานที่เข้าสู่วัยเกษียณในอีกประมาณ 30 ข้างหน้า อาจไม่ได้รับเงินบำนาญ ขณะที่วัยเกษียณนับแสนคน ขณะนี้ได้สิทธิรับเงินเต็มที่ ถือเป็นการเอาเปรียบระหว่างรุ่น การปฏิรูปจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำ เพราะวัยเกษียณที่อายุ 55 ปี กับเงินสมทบที่จ่ายถือว่าน้อยมากหากเทียบกับต่างประเทศที่ให้เงินบำนาญเหลือกินเหลือใช้ และไม่ควรเน้นดูแล เฉพาะคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ต้องคำนึงถึงแรงงานนนอกระบบด้วยว่าอนาคตวัยเกษียณจะเป็นอยู่อย่างไร .-สำนักข่าวไทย