กรุงเทพฯ 18 ธ.ค. – รมว. เกษตรฯ มอบส่งมอบคูปองลดหย่อนภาษี “โครงการช้อปช่วยชาติ ” พร้อมเปิดตัวผู้แทนจำหน่ายยางล้อที่เข้าร่วมโครงการ ยืนยัน จากการเร่งดำเนินมาตรการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ ทำให้วันนี้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นจากเมื่อต้นเดือนสูงขึ้นกว่า 3 บาทต่อกิโลกรัม
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานมอบคูปองลดหย่อนภาษีที่จัดสรรให้กับบริษัทผู้ผลิตยางล้อแก่บริษัท IRC , Maxxis , N.D Rubber , ดีสโตน และโอตานิ ซึ่งตกลงรับซื้อวัตถุดิบยางจาก กยท. เพื่อนำไปผลิตล้อยางแล้วรวม 1,706,000 กิโลกรัม ซึ่งคูปองลดหย่อนภาษีที่จัดสรรให้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ คูปองสำหรับยางล้อรถยนต์ประเภท 4 ล้อ ได้รับคูปองจำนวน 100 ใบต่อการซื้อวัตถุดิบ 1 ตันและคูปองสำหรับยางล้อรถจักรยานยนต์หรือรถจักรยานประเภทรถ 2 ล้อได้รับคูปองจำนวน 500 ใบ ต่อการซื้อวัตถุดิบ 1 ตัน
นอกจากนี้ยังมีบริษัทผู้ผลิตยางล้อของต่างประเทศซึ่งมีโรงงานในประเทศไทยสนใจเข้าร่วมโครงการเพื่อซื้อยางช่วยชาติเพิ่มเติมอีก แต่ยังไม่สามารถจัดซื้อได้ทันที เนื่องจากต้องประสานงานกับบริษัทแม่ในต่างประเทศเรื่องการทดสอบคุณภาพยางแผ่นและยางแท่งที่จะจัดซื้อจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ กยท. จะรวบรวมให้ ทั้งนี้ได้แสดงความจริงใจที่จะร่วมมือโดยการทำสัญญาซื้อขายยางไว้ล่วงหน้า แล้วนำสัญญามาแสดงต่อ กยท.เพื่อรับคูปอง จากนั้นนำคูปองไปกระจายต่อบริษัทหรือร้านค้าที่จำหน่ายยางได้
สำหรับประชาชนที่ซื้อล้อยางรถยนต์ที่รับซื้อจากวัตถุดิบในประเทศไทยสามารถนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท โดยต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ และคูปองที่ กยท. ออกให้ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้หักลดหย่อนภาษีในปีที่ซื้อ หากซื้อช่วงปีไหนก็หักลดหย่อนภาษีปีนั้น โดยเริ่มช้อปสินค้าได้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2561 จนถึง 16 มกราคม 2562 รวมระยะเวลา 1 เดือน
ผู้ประกอบการผลิตล้อยางได้แก่ โอตานิแจ้งว่า มีร้านค้าตัวแทนจำหน่าย 200 สาขา ดีสโตน 800 สาขา แม็กซิส 40 สาขา ส่วนไออาร์ซีมีตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ โดยผู้แทนของโอตานิระบุว่า เดิมซื้อยางพาราจากสหกรณ์ 5 สหกรณ์ที่สามารถผลิตยางแผ่นและยางแท่งได้มาตรฐาน GMP อยู่แล้วซึ่ง อยู่แล้วซึ่งมีค่าความหนืด ความยืดหยุ่น และความสะอาดดีตามที่บริษัทต้องการ ทั้งนี้แม้จะหมดโครงการช้อปช่วยชาติแล้วยินดีจะรับซื้อจากสถาบันเกษตรกรมากขึ้น โดยขอให้ กยท. ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกรผลิตยางให้มีคุณภาพ รวบรวมปริมาณยางได้ตามคำสั่งซื้อ และส่งมอบตรงตามสัญญา
นายกฤษฎา กล่าวว่า ขณะนี้มีสหกรณ์ชาวสวนยางมี 841 สหกรณ์ ใน 59 จังหวัด โดยครม. มีมติเห็นชอบให้กรมส่งเสริมสหกรณ์คัดเลือกสหกรณ์ที่มีศักยภาพขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้ 5,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ 200 ล้านบาท โดยสหกรณ์ที่ได้รับคัดเลือกจะทำหน้าที่รวบรวมยางพาราจากสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรในพื้นที่ นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งนี้มี 6 สหกรณ์ที่รวบรวมและแปรรูปได้ ส่วนอีก 12 สหกรณ์มีศักยภาพในการรวบรวม แล้วนำส่งโรงงานแปรรูป ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะพัฒนาสหกรณ์ชาวสวนยางให้ยกระดับการดำเนินกิจการให้ได้เทียบเท่ากับสหกรณ์อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรีซึ่งสามารถแปรรูปยางพาราส่งออกไปยังเมืองชิงเต่า ประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดซื้อขายยางพาราที่แห่งใหญ่ได้ด้วย
นายกฤษฎากล่าวเพิ่มเติมถึง โครงการทำถนน 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตรว่า กำลังประสานกับกระทรวงมหาดไทยขอให้เชิญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 7,000 กว่าแห่งมาประชุมเพื่อทำความเข้าใจแบบรายการยางมาตรฐานทำถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพาราซึ่งออกแบบโดยกรมทางหลวงซึ่งได้ปรับจากเดิมที่กำหนดให้ใช้น้ำยางข้นที่ผสมสารเพิ่มจากโรงงานแปรรูปน้ำยางในกรุงเทพฯ 9 แห่งซึ่งทำให้เกษตรกรกังวลว่า ต้องขายน้ำยางแก่คนกลางเพื่อส่งมาแปรรูป แล้วผู้ได้รับประโยชน์คือ คนกลางและโรงงานแปรรูปเท่านั้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ประสานไปยังกรมทางหลวงให้ออกแบบรายการยางมาตรฐานใหม่เพื่อให้สามารถผสมสารเพิ่มที่ภาคสนามได้เลย (Mix in Place) แบบนั้นเปิดให้สามารถใช้ได้ทั้งน้ำยางสดและน้ำยางข้น ส่วนราคากลางที่กำหนดโดยกรมบัญชีกลาง ราคาน้ำยางสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 39 บาทซึ่งเป็นราคาที่สอดคล้องกับแบบที่ออกโดยกรมทางหลวงเพื่อให้ใช้คำนวณราคากลางสำหรับการก่อสร้างได้ แต่ในวันที่ อปท. รับซื้อจากสถาบันเกษตรกรอาจแตกต่างไปจากราคากลางบ้าง ขอย้ำว่า ราคากลางก่อสร้างถนนอยู่ที่กิโลเมตรละประมาณ 1.2 ล้านบาทในกรณีจ้างเหมา หากท้องถิ่นดำเนินการเองอยู่ที่ 900,000 ถึง 1,000,000 บาท ยืนยันว่า ที่ปรากฏเป็นข่าวว่า ค่าก่อสร้างถนนอยู่ที่ 2.1 ล้านบาทนั้นเป็นราคากลางเดิมที่คำนวณจากการนำน้ำยางมาผสมที่โรงานแปรรูปน้ำยางในกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้ได้ปรับลดลงแล้ว และผู้ได้รับประโยชน์คือ เกษตรกรโดยตรงที่จะขายน้ำยางแก่ อปท. ผ่านสถาบันเกษตรกร
สำหรับข้อห่วงใยที่ว่า ถนนงานดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพาราจะไม่ได้มาตรฐานนั้น ยืนยันว่า ก่อนที่ อปท. จะรับมอบต้องมีขั้นตอนตรวจสอบโดยต้องขุดดินที่ราดด้วยน้ำยางแล้วใช้รถเกลี่ยจนเป็นเนื้อเดียวกันไปทดสอบในสถาบันอุดมศึกษาที่มีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจะต้องได้มาตรฐานความแน่น ความยืดหยุ่น และสมรรถนะการรับน้ำหนักได้ตามที่กรมทางหลวงกำหนด
นายกฤษฎากล่าวว่า การเร่งดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพาราทำให้ราคาปรับสูงขึ้นแล้ว โดยราคายางแผ่นรมควันวันนี้ (18 ธันวาคม 61) อยู่ที่ 43.19 บาท จากเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมอยู่ที่ 39.17 บาท ปรับขึ้นมา 3.40 บาท คิดเป็นร้อยละ 8.5 ในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์กว่า เชื่อมั่นว่า เมื่อมีการสร้างถนนในหมู่บ้านเกือบ 80,000 แห่งทั่วประเทศราคายางพาราจะปรับสูงขึ้นอีกแน่นอน . – สำนักข่าวไทย