กรมชลประทาน 17 ธ.ค.-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ
กำชับกรมชลประทานเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในจังหวัดนครศรีธรรมราชและนราธิวาส
พร่องน้ำรอรับฝนใหม่ที่จะตกลงมาอีกระลอก
พร้อมให้ทุกหน่วยงานเร่งเข้าช่วยเหลือเกษตรกรโดยด่วน
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า
ได้รับรายงานสถานการณ์น้ำในภาคใต้จากกรมชลประทาน ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ
ทรงตัวแล้วและมีแนวโน้มลดลง โดยกำชับให้อาศัยจังหวะนี้ที่น้ำทะเลลดต่ำลง
เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลเนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่า วันนี้(17 ธ.ค.)ถึงวันพรุ่งนี้(18
ธ.ค.) จะมีฝนตกลงมาอีกระลอก แต่ปริมาณฝนไม่มากเท่ากับ 3 วันที่ผ่านมา
ทั้งนี้ได้ให้สำรวจปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ
แล้วบริหารจัดการให้มีพื้นที่รองรับฝนใหม่ ซึ่งทางกรมชลประทานระบุว่า
ได้พร่องน้ำไว้ล่วงหน้าแล้ว จะไม่มีน้ำล้นอ่างเก็บน้ำแน่นอน
นอกจากนี้ยังได้สั่งทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ
ในพื้นที่ประสบภัยและพื้นที่เสี่ยงประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด
ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่
รวมทั้งสั่งการให้บูรณาการเข้าช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน
ด้านนายทองเปลว กองจันทร์
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า พื้นที่ที่ประสบภัยมี 2
จังหวัดคือ นครศรีธรรมราชซึ่งน้ำล้นตลิ่งในเทศบาลเมือง
จากการที่เร่งสูบน้ำและผลักดันน้ำ ทำให้ระดับน้ำที่ท่วมสูง 30 – 50 เซนติเมตรในที่ลุ่มต่ำทรงตัวแล้ว และมีแนวโน้มลดลง
ส่วนที่จังหวัดนราธิวาสน้ำล้นตลิ่ง 2 ฝั่งแม่น้ำโกลก สูง 36 เซนติเมตร ซึ่งได้ใช้เครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายออก
คาดว่า สถานการณ์น้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 2 วัน
ส่วนจังหวัดพัทลุงมีน้ำท่วมผิวการจราจรในบางสายของอำเภอควนขนุนสูง 10 เซนติเมตร แม้จะมีฝนตกลงมาอย่างหนัก แต่เนื่องจากในคาบสมุทรสทิงพระนั้น
ระดับน้ำของทะเลสาบสงขลาอยู่ในระดับต่ำ จึงรองรับการระบายน้ำได้เป็นอย่างดี
สำหรับจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีน้ำท่วมขังพื้นที่เกษตรบ้าง
แต่จากการพร่องน้ำไว้ล่วงหน้าก่อนเข้าสู่ฤดูฝนของภาคใต้ทำให้ขณะนี้ตัวเมืองสุราษฎร์ธานีสถานการณ์น้ำยังอยู่ในภาวะปกติ จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังเพิ่มเติมได้แก่
ชุมพรโดยเฉพาะที่อำเภอพะโต๊ะ หลังสวน และละแม อีกจังหวัดคือ พัทลุง
ซึ่งได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งพร่องน้ำออกทะเลไปก่อนที่ฝนระลอกใหม่จะตกลงมา
นายทองเปลวกล่าวอีกว่า
การบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนของภาคใต้เป็นไปตามแผนที่วางไว้
โดยมีจุดหลักสำหรับเตรียมเครื่องจักร เครื่องกล รถขุด
รถบรรทุกไว้ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สงขลา นครศรีธรรมราช และนราธิวาส
รวมทั้งจุดสำรองอีก 13 จุดเพื่อที่จะสามารถเข้าดำเนินการป้องกันและบรรเทาภัยครอบคลุมจุดเสี่ยงที่มี
75 จุดใน 16 จังหวัด
สำหรับเครื่องจักร-เครื่องมือที่กรมชลประทานจัดเตรียมไว้ตามโครงการชลประทานต่าง ๆ
รวมถึงพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในภาคใต้ประกอบด้วย เครื่องสูบน้ำ 453 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 300 ชุด
เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 82 เครื่อง รถขุด`/รถแทรกเตอร์
108 คัน รถบรรทุก/ยานพาหนะ 324 คัน
และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ 245 หน่วยสะพานเหล็กแบบถอดประกอบได้
1 ชุดซึ่งสำรองไว้ที่ภาคใต้แล้วเพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยได้อย่างรวดเร็วทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ–สำนักข่าวไทย