กรุงเทพฯ 16 พ.ย. – ก.เกษตรฯ – เครือข่ายชาวสวนยาง หนุนหยุดกรีดยาง เพื่อยกระดับราคาในประเทศสูงขึ้น
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับเครือข่ายชาวสวนยางพารา ว่า ทุกฝ่าย ทั้งกระทรวงเกษตรฯ ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และผู้แทนเกษตรกร เห็นตรงกันว่า มาตรการที่จะยกระดับราคายางพาราได้อย่างรวดเร็วที่สุด คือ การหยุดกรีดยางพร้อมกันทั้งประเทศ ซึ่งได้ให้ทางเครือข่ายไปสอบถามชาวสวนยางทั่วประเทศว่าเห็นด้วยหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้ทั่วโลกใช้ยางพาราเดือนละ 1.4 ล้านตัน โดยเป็นผลผลิตยางจากประเทศไทย 400,000 ตัน หากไทยหยุดกรีดยางยางพาราจะหายจากตลาดโลกไป 400,000 ตัน ใน 1 เดือน ทำให้ผู้ที่ทำสัญญาซื้อขายตลาดล่วงหน้าเมื่อถึงกำหนดต้องส่งสินค้าจะหาสินค้าไม่ได้ต้องมาซื้อยางของไทย จึงจะฉุดให้ราคาสูงขึ้น
ทั้งนี้ จากการสอบถามผู้แทนเกษตรกรถึงรายได้จากการกรีดยาง 1 เดือนต่อไร่ อยู่ที่ประมาณ 1,800 บาท รัฐจะชดเชยค่าเสียรายได้ให้ 2,000 บาทต่อไร่ เป็นมาตรการที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรไม่มีการบังคับ หากเห็นด้วยและกำหนดมาตรการดูแลกันเองไม่ให้มีผู้แอบกรีดยางขายได้แล้วจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อของบประมาณมาดำเนินมาตรการนี้
สำหรับบริษัทผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ 5 บริษัทรายได้แก่ บ. ไทยฮั้วรับเบอร์ บ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี บ. เซาท์แลนด์รับเบอร์ บ. วงศ์บัณฑิต และบ. ไทยรับเบอร์ ลาแท็คซ์กรุ๊ป ได้ร่วมมือรับซื้อน้ำยางดิบที่กิโลกรัมละ 37 บาท ยางก้อนถ้วยกิโลกรัมละ 37 บาท และยางแผ่นดิบรมควันที่กิโลกรัมละ 40 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาหน้าสวน ส่วนมาตรการจูงใจทางภาษีนั้น กำลังหารือกับกระทรวงการคลังว่าหากซื้อล้อยางที่ผลิตจากยางในประเทศแล้วให้นำใบเสร็จมาลดหย่อนภาษีเงินได้ ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงปลายปีทุกปีกรมสรรพากรจะเก็บภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 จึงเป็นจังหวะที่เหมาะสม หากทำได้โดยไม่ขัดกับกฎหมายภาษี
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้แทนเกษตรกรทวงถามถึงความคืบหน้าการใช้ยางพาราของหน่วยงานภาครัฐเพื่อดูดซับยางออกจากตลาด ขณะนี้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการ โดยเริ่มจากการจัดทำและประกาศราคากลางสำหรับถนนยางพาราดินซีเมนต์ เพื่อให้ทุกหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างได้โดยไม่ขัด พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะทราบผลต้นสัปดาห์หน้า ส่วนการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรกำลังพิจารณาว่าจะให้ไร่ละ 1,500 บาท หรือ 1,800 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ซึ่งต้องดูความเหมาะสม
“ผู้แทนเกษตรกรยังเสนอให้ชดเชยกรณีภาคเอกชนรับซื้อยางแผ่นดิบรมควันราคาต่ำกว่าราคา FOB หากต่ำกว่าเท่าใด ให้ กยท.ชดเชยให้เท่ากัน ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรรายย่อยที่ขายน้ำยางดิบ แปรรูปเป็น ยางแผ่นดิบรมควันซึ่งได้ราคาสูงกว่า อีกทั้งจะดึงให้ราคาน้ำยางดิบสูงขึ้นด้วย จึงมอบหมายให้ กยท.นำไปพิจารณา” นายกฤษฎา กล่าว
ทั้งนี้ หากเครือข่ายเกษตรกรมีข้อเสนอให้แจ้งมายังกระทรวงเกษตรฯ และ กยท.พร้อมรับฟัง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบช่วยเหลือชาวสวนยางพาราที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำต่อเนื่องโดยเร็วที่สุด.-สำนักข่าวไทย