กรุงเทพฯ 26 ต.ค. – “อุตตม” สั่ง กนอ.พัฒนาเอสเอ็มอีไทยและดูแลชุมชนรอบนิคมฯ ให้มีความเข้มแข็ง
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ คณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยขอให้การดำเนินงานของ กนอ.เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศควบคู่ไปกับการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีการดูแลสิ่งแวดล้อมของโครงการลงทุนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนและชุมชนที่อยู่อาศัยโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ
นอกจากนี้ นายอุตตม ยังขอให้ กนอ.ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยขอให้ กนอ. “คิดนอกรั้ว ทำงานนอกรั้ว” ช่วยพัฒนาชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันมีมากถึง 450 ชุมชน ประชาชนมากถึง 185,000 ครัวเรือน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน มีโอกาสผลิตสินค้า สะสมทุน ของวิสาหกิจชุมชน
ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรมจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป คาดว่าจะดำเนินการเสร็จต้นปีหน้า เพราะเมื่อ พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมได้รับการแก้ไขจะเป็นประโยชน์ขับเคลื่อนแผนงานของ กนอ.สามารถลงทุนได้ ซึ่งการลงทุนจะสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นอกจากนี้ ยังขอให้จัดตั้งศูนย์เอสเอ็มอีไอทีซีของ กนอ.ทำงานประสานร่วมกับศูนย์ไอทีซีของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อช่วยพัฒนาเอสเอ็มอีพร้อมทำงานยึดโยงกัน โดยขอให้ปีหน้าตั้งให้ได้ 13 ศูนย์ และตั้งศูนย์ resource recovery นำวัดสุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด โดยศูนย์นี้จะเกิดขึ้นหลังการแก้ไข พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดย กนอ.ตั้งเป้าหมาย 6 พื้นที่ และจัดเตรียมพื้นที่แห่ง ๆ ละประมาณ 1,000 ไร่ ตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า เพื่อรองรับการลงทุนปีหน้า กนอ.เร่งเดินหน้าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท พาร์ค ในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง บนเนื้อที่ประมาณ 1,500 ไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมการแพทย์ เป็นต้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบพื้นที่และการศึกษารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA คาดว่าจะได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ปลายปี 2561 และพร้อมเปิดให้นักลงทุนเข้าลงทุนได้ในปี 2565
ส่วนการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 ซึ่งเป็น 1 ใน 4 โครงการที่สำคัญและเป็นโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างเชิญชวนภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนหรือ TOR คาดว่าจะสามารถประกาศให้เอกชนซื้อซองประมูลเร็ว ๆ นี้ และจะพิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนต้นปี 2562
ส่วนการขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมปีงบประมาณ 2561 ต่ำกว่าเป้าหมาย 3,000 ไร่ โดยขายได้ประมาณ 1,300 ไร่ สาเหตุที่ขายไม่ถึงเป้าหมาย เนื่องจากเศรษฐกิจและการปรับเทคโนโลยีใช้หุ่นยนต์มากขึ้น.-สำนักข่าวไทย