กรุงเทพฯ13 ก.ย.-นักวิชาการย้ำในเวทีเสวนา การพัฒนาการศึกษาเด็ก ไทย ต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ด้วยการพัฒนาที่เหมาะสม หากเริ่มตอนอนุบาลสายเกินไป
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นประธานเปิดเวทีวิชาการสภาการศึกษาเสวนา( OEC Forum) ครั้งที่11 เรื่อง”สมรรถนะเด็กปฐมวัยไทย ก้าวไกลสู่มาตรฐานอาเซียน” เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา ได้แลกเปลี่ยนแนวคิด ในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กก่อนปฐมวัย อายุ 0-3 ปี และปฐมวัย อายุ 3-5 ปี ให้ได้รับการพัฒนาที่เหมาะสม
นายกมล กล่าวว่า การพัฒนาสมรรถนะเน้นเรื่องการพัฒนาเด็ก ตามรัฐธรรมนูญ ที่ต้องจัดการศึกษาให้เด็กตั้งแต่แรกเกิด จนกระทั่งเข้าเรียนระดับประถมศึกษา โดยจะได้รับการพัฒนาใน 4 ด้านหลัก คือร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม โดยจะจัดทำเป็นตำราคู่มือการพัฒนาที่มีแบบแผนตรงตามเป้ามากขึ้น จากก่อนหน้าเคยจัดทำคู่มือสมรรถนะของเด็กปฐมวัยมาแล้วเพื่อส่งมอบให้กับหน่วยงานต่าง ทั้งในกระทรวงศึกษาฯ หน่วยงานด้านการศึกษาอื่นๆ รวมถึงศูนย์เด็กเล็ก โดยมาตรฐานของเด็กไม่ได้หมายถึงแค่เด็กไทย แต่ยังได้เทียบเคียงกับอาเซียนด้วยว่าควรกำหนดมาตรฐานว่ามีลักษณะอย่างไร ซึ่งไทยเป็นผู้นำด้านนี้ ถูกนำไปแบบอย่างในการจัดการศึกษา
ด้านนางสายสุรี จุติกุล รองประธานคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่ง ชาติ กล่าวว่า ย้อนไป 15 ปีก่อน การศึกษาไทยถูกทอดทิ้งมาตลอด โดย เฉพาะเด็กและครู ซึ่งเป็นผลผลิตที่สำคัญของการศึกษา แต่ในปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเด็กปฐมวัยตั้งแต่0-5 ปีเป็นวัยที่มีความสำคัญที่ต้องได้รับการพัฒนาที่เหมาะสม ตั้งแต่อยู่ในครรภ์เพราะหากไม่ได้รับการพัฒนาก็ไม่สามารถต่อยอดการเรียนรู้ได้เมื่อเข้าสู่วัยเรียน ถึงเวลาต้องปรับปรุง เด็กปฐมวัยมีสิทธิเท่าเทียมกับเด็กวัยอื่นๆเพราะที่ผ่านมา การเลี้ยงเด็กตามยถากรรม เลี้ยงไปเรื่อยๆ มาใส่ใจ ตอนเข้าเรียนอนุบาลและ ป.1ซึ่งกว่าจะถึงอนุบาลก็สายแล้ว เพราะการวิจัยระบุ การพัฒนามันสมองของคนรวดเร็วมาก โดยเฉพาะในเด็กทารก ที่เรียนรู้ได้ตั้งแต่ในท้อง และมีการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบสิ้น เกิดได้ตลอดเวลา สัมผัสทั้งหมดคือประตูการเรียนรู้ของเขา ดังนั้น จะดูถูกว่าเด็กไม่รู้ไม่ได้ เด็กเรียนรู้ตลอด ไม่มีอะไรที่ช่วยสร้างนิสัยการเรียนรู้ เท่ากับการสร้างวินัยไปพร้อมกับความสุข ดังนั้น ต้องคิดใหม่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัย.-สำนักข่าวไทย