กรุงเทพฯ 11 ก.ย. – อธิบดีกรมปศุสัตว์ยืนยันสกัดกั้นการลักลอบนำเข้าซากและผลิตภัณฑ์สุกรทุกช่องทาง และพร้อมเสนอ รมว.เกษตรฯ ออกกฎกระทรวงห้ามนำเข้าสุกรจากจีนเด็ดขาด หากสถานการณ์อหิวาต์สุกรรุนแรงมากขึ้น
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ด่านกักกันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จัดชุดปฏิบัติการสุนัขดมกลิ่นตรวจสอบการลักลอบเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนซากสุกรและผลิตภัณฑ์จากสุกรที่มีต้นทางจากประเทศจีน เนื่องจากขณะนี้โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ( ASF) ระบาดรุนแรงขึ้น ที่ผ่านมาเมื่อตรวจพบจะยึดและทำลายทิ้ง อีกทั้งให้กองสารวัตรและกักกันเข้มงวดตรวจค้นและปราบปรามการลักลอบการนำเข้าสุกรเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนและด่านพรมแดนทั้ง 89 ช่องทาง ใน 25 จังหวัด ล่าสุดออกประกาศชะลอการนำเข้าสุกรเป็นรวมทั้งผลิตภัณฑ์สุกรจากจีนและประเทศที่มีการระบาดของโรคเป็นระยะเวลา 90 วัน พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า แม้มาตรา 33 ของพระราชบัญญัตินี้ให้อำนาจอธิบดีกรมปศุสัตว์ออกประกาศชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ หากปรากฏว่าท้องที่ใดภายนอกราชอาณาจักรมีโรคระบาดหรือสงสัยว่ามีโรคระบาดได้ครั้งละไม่เกิน 90 วัน หากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจากประเทศจีนยังมีความเสี่ยง อธิบดีก็มีอำนาจที่จะประกาศชะลอการนำเข้าได้อีกครั้งละไม่เกิน 90 วัน ทั้งนี้ หากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจากประเทศจีนยังมีความรุนแรงมากขึ้น กรมปศุสัตว์จะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อาจออกประกาศกำหนดห้ามการนำเข้า หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสุกรหรือซากสุกรจากสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเด็ดขาด
นอกจากนี้ เมื่อออกประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านสุกรหรือซากสุกรจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ.2561 ได้ประสานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอความร่วมมือแจ้งหน่วยงานในสังกัดทั้งทางอากาศยานและตามแนวชายแดนให้เข้มงวดตรวจสอบการนำเข้าและเคลื่อนย้ายสัตว์ – ซากสัตว์ ตามแนวชายแดน รวมทั้งแจ้งหน่วยงานในสังกัดกรมปศุสัตว์ให้เข้มงวดตรวจสอบการนำเข้าและเคลื่อนย้ายสัตว์ – ซากสัตว์ทุกช่องทางที่มีการนำเข้าและนำผ่านทั้งการขนส่งทางบก ทางเรือ และทางอากาศยาน รวมถึงเตรียมพร้อมห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ในพื้นที่ สำหรับตรวจชันสูตรและยืนยันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หากพบเชื้อไวรัสก่อโรคจะเร่งป้องกันและควบคุมการระบาดได้อย่างทันท่วงที โรคนี้แม่ไม่ระบาดจากสัตว์สู่คน แต่เป็นโรคระบาดรุนแรงในสุกร ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมอย่างน้อย 6 เดือน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและผู้ประกอบการต่าง ๆ ด้วย.-สำนักข่าวไทย