รัชดาภิเษก 23 ส.ค.- เปิดสถิติความรุนแรงในครอบครัว เพียง 7 เดือนปีนี้ ทั้งฆ่ากันตาย ทำร้ายสาหัส พุ่งสูงถึงเกือบ 400 ข่าว ชี้กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น พลเมืองดีต้องไม่เงียบ
ในเวทีเสวนา ‘จับสัญญาณอันตรายความตายความรุนแรงในครอบครัว 2018’จัดโดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่าการเก็บสถิติ ข่าวความรุนแรงในครอบครัว ช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค.2561 เกิดข่าว 367 ข่าว เป็นข่าวฆ่ากันตาย 242 ข่าว,คิดเป็นร้อยละ 65.9 รองลงมาเป็นข่าวทำร้ายร่างกาย 84ข่าว คิดเป็นร้อยละ 22.9 และข่าวฆ่าตัวตาย 41 ข่าว คิดเป็นร้อยละ11.2 โดยหากเปรียบเทียบข่าวฆ่ากันตายย้อนหลัง 3 ปี พบว่าปี 2561 สถิติสูงสุดกว่าทุกปีและหากวิเคราะห์เชิงลึกในรอบ 4 เดือนเฉพาะข่าวฆ่ากันตายเฉลี่ยเดือนละ 20 ข่าว
ด้านนายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่าสาเหตุความรุนแรงส่วนใหญ่ ยังเป็นเพราะผู้ชายมีวิธีคิดและทัศนคติ แบบชายเป็นใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง วิธีคิดแสดงออกผ่านพฤติกรรม หึงหวงบันดาลโทสะ ทำให้การทะเลาะวิวาทในครอบครัว กลายเป็นเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องลิ้นกับฟัน ส่งผลคนในสังคมไม่อยากเข้าไปช่วยเหลือ ทำให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้มูลนิธิฯ เห็นว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)ซึ่งมีทั้งสายด่วน 1300 มีเจ้าหน้าที่อยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ควรทำงานเชิงรุกเร่งสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวัง ไม่ให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ทั้งหญิงกับชายหรือพ่อแม่กับลูก โดยมูลนิธิฯ และผู้เกี่ยวข้องเตรียมจะยื่นข้อเสนอต่อ พม. เร็วๆนี้ โดยเฉพาะการเข้าช่วยเหลือของผู้พบเห็นเพราะมีข้อมูลเผยว่าร้อยละ 94 ของผู้พบเห็นปฏิเสธการเข้าช่วยเหลือ
ในเวทีเสวนายังนำตัวอย่างผู้เคยประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว คือภรรยาที่ถูกสามี ทุบตี ล่ามโซ่ นับ10 ครั้ง ต้องร้องเรียนผ่านมูนิธิจึงได้รับความช่วยเหลือ เคยแจ้งความกับตำรวจแล้วแต่ก็ทำอะไรไม่ได้
ด้านพลเมืองดีที่เคยเข้าไปช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกแฟนสาวทอมซ้อม กล่าวว่าอยากให้ เป็นบทเรียนกับสังคมว่าให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาไม่นิ่งเฉย อย่าฝังใจว่าเป็นเรื่องของสามีภรรยา หรือมองว่าการทำร้ายร่างกายเป็นเรื่องปกติ เสนอแนะให้บทลงโทษต้องเข้มงวดจริงจัง.-สำนักข่าวไทย