กรุงเทพฯ 1 พ.ค. – กรมสุขภาพจิต ห่วงใยประชาชนรับข่าวความรุนแรงต่อเนื่องจนระแวงสังคม เร่งสื่อสารเน้นให้ความรู้สุขภาพจิต การดูแลตนเองและครอบครัว แนะเรียนรู้จากข่าวอย่างเหมาะสม ป้องกันทั้งความตระหนกและการขยายปัญหาจากการลอกเลียนแบบได้
วันนี้ (1 พฤษภาคม 2566) กรมสุขภาพจิต ชี้แจงการวินิจฉัยโรคผู้ป่วยจิตเวชต้องผ่านการซักประวัติ ตรวจสภาพจิตอย่างละเอียดด้วยแพทย์ผู้เชียวชาญ การวิเคราะห์ผู้ก่อคดีว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวชจึงไม่สามารถระบุได้เพียงอาศัยข้อมูลจากข่าว ขณะที่สื่อมวลชนควรเสนออย่างเหมาะสม ไม่ตอกย้ำรายละเอียดพฤติกรรมหรือเหตุการณ์รุนแรงจนกระตุ้นบาดแผลทางใจแก่ครอบครัวผู้เกี่ยวข้องและประชาชนที่เสพข่าวต่อเนื่อง อีกทั้งผู้มีความเปราะบางทางใจบางรายอาจนำไปยึดเป็นตัวอย่างหรือเลียนแบบได้
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ข่าวผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมหลายศพในเวลาไม่กี่ปี ทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยว่าผู้ต้องหาเป็นโรคทางจิตเวชหรือไม่ ทั้งนี้ การวินิจฉัยทางการแพทย์ต้องผ่านกระบวนการ ซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจสภาพจิต โดยจิตแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยไม่สามารถอาศัยเพียงข้อมูลหรือพฤติกรรมที่ปรากฏในสื่อมาใช้ในการวินิจฉัย นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงของอาการเจ็บป่วยก็เป็นความลับผู้ป่วยที่ไม่สามารถนำมาเผยแพร่สู่สาธารณะได้ อย่างไรก็ตาม การเป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาลจิตเวชมิได้หมายถึงการมีโรคทางจิตเวชรุนแรงเท่านั้น เพราะประชาชนโดยทั่วไปก็สามารถมารับการรักษาได้ โดยมีทั้งปัญหาสุขภาพจิตเล็กน้อยบางประเภท ตั้งแต่อาการนอนไม่หลับ เครียด จนถึงปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงก็ได้ ฉะนั้น การที่บุคคลใดอ้างถึงประวัติการรักษาด้านจิตเวชเมื่อมีการกระทำผิดกฎหมาย จึงต้องนำข้อมูลความเจ็บป่วยมาวิเคราะห์ประกอบอย่างระมัดระวัง
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่เป็นห่วงในระยะนี้ คือ เนื้อหาข่าวที่รุนแรงมักดึงดูดให้ประชาชนรับข่าวสารมากเกินไป การเสพข่าวที่ขาดวิจารณญาณและสติ จนเหมือนความรุนแรงโหดร้ายอยู่ใกล้ตัวมากๆ สามารถนำไปสู่ความหวาดระแวงคนใกล้ชิดและคนรอบข้าง กลัวเหตุการณ์จะเกิดขึ้นกับตนเอง กลายเป็นความตระหนกและส่งผลต่อสัมพันธภาพของบุคคล สิ่งสำคัญที่ต้องระวังอีกเรื่อง คือการรับข้อมูลซ้ำๆ อาจจะทำให้เกิดการชาชินต่อสถานการณ์ เกิดจินตนาการพฤติกรรมความรุนแรง หรือเกิดการเลียนแบบได้ โดยเฉพาะเมื่อการนำเสนอข่าวที่มีการกล่าวถึงชื่อ ให้รายละเอียดวิธีการก่อเหตุอย่างมาก ใช้เวลาบรรยายนานและมีสีสันคล้ายละคร อาจทำให้กลุ่มบุคคลที่มีความอ่อนไหว เปราะบางหรือผู้ที่กำลังประสบปัญหากดดันที่เก็บสะสมอารมณ์ด้านลบหรือมีพื้นฐานเกลียดชังสังคมอยู่ก่อน กลับมองเห็นการก่อเหตุเป็นต้นแบบผิดๆนี้เป็นทางเลือกแก้ปัญหาชีวิตของตน
ผลกระทบของการนำเสนอข่าวอีกข้อที่พึงระวัง คือ การสัมภาษณ์ครอบครัวของผู้ก่อเหตุหรือเหยื่อ หรือการขุดคุ้ยปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร้ขอบเขต ยังสร้างรอยแผลทางใจต่อคนรอบตัวของผู้ก่อเหตุ บางข่าวมีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลสู่สาธารณะ ทำให้สภาพความเป็นอยู่ส่วนตัวหรือความเกี่ยวข้องกับบุคคลอันเป็นที่รักอาจได้รับผลกระทบ และสร้างความเสียใจหรือปัญหาที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย
ดังนั้น กรมสุขภาพจิตจึงมีการเฝ้าระวังดูแลบุคคลใกล้ชิดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ พร้อมแนะนำประชาชนในการรับข้อมูลสื่อสารที่ก้าวร้าวรุนแรงในระดับที่เหมาะสม ไม่ใช้เวลาอยู่หน้าจอทีวีหรือสื่ออน์ไลน์ อินเตอร์เน็ต นานๆหลายชั่วโมงติดต่อกันจนเกิดความรู้สึกหม่นหมอง พิจารณารับคำแนะนำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตจากผู้ที่ตนเองไว้ใจ เชื่อถือได้ มีความตระหนักโดยไม่ตระหนก หากกังวลมากสามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ 24 ชั่วโมง .-สำนักข่าวไทย