กรุงเทพฯ, อุดรธานี 8 ส.ค.-เปิดรายงานสถานการณ์นักเรียนยากจนปี 2561 พบมีมากกว่าร้อยละ 35 ของนักเรียนทั้งหมด ซึ่งนักวิชาการมองว่า เรื่องนี้ภาครัฐยังไม่เห็นความสำคัญเท่าที่ควร ทำให้ยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
1.6 ล้านคน คือจำนวนนักเรียนยากจนที่สำรวจล่าสุด แบ่งเป็นยากจนกว่า 1 ล้านคน เเละยากจนพิเศษ 620,000 คน ประเมินจากปัจจัยรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยน้อยกว่า 3,000 บาท/เดือน ไม่มีรถ ที่ดินทำกิน บ้านทรุดโทรมเเละมีภาระมาก
กลุ่มยากจนพิเศษ คือที่ต้องช่วยเหลือเร่งด่วน ส่วนใหญ่อยู่ภาคเหนือ อันดับ 1 เเม่ฮ่องสอน รายได้ครอบครัวเพียง 1,281 บาท/เดือน ผอ.โรงเรียนในจังหวัดอุดรธานี ให้ข้อมูลว่าโรงเรียนมีครู 3 คน นักเรียน 78 คน เป็นเด็กยากจนเกือบทั้งหมด พ่อเเม่ทำงานรับจ้าง บ้านเเตก เด็กต้องหาเช้ากินค่ำ จำนวนมากต้องออกนอกระบบการศึกษา เพราะไม่มีเงินเรียน ส่วนเงินอุดหนุนที่ได้ก็ตกอยู่กับพ่อเเม่ ไม่ถึงตัวเด็ก และไม่เพียงพอ
ปัจจุบัน เด็กยากจนจะได้รับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจาก สพฐ. ประถมได้ 500 บาท/ปีการศึกษา หรือวันละ 5 บาท มัธยมต้นได้ 1,500 บาท หรือวันละ 15 บาท ซึ่งน้อยเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเตรียมช่วยเหลือ ประเมินความจำเป็นของเด็กรายบุคคลไม่ถัวเฉลี่ยเช่นอดีต ขั้นต่ำเพิ่มรายละ 1,000 บาท/ภาคเรียน สูงสุดเฉลี่ย 8,000 บาท คาดไม่เกินปลายเดือนนี้สำนักงบฯ จัดสรรงบปี 61 ให้หลังพระราชบัญญัติกองทุนผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาลแล้ว และอาจช่วยปัจจัยอื่นเสริม ไม่ใช่แค่ให้เงินแล้วจบ
ความยากจนคือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไทยติดอันดับ 3 คนรวยคนจนต่างกัน 23 เท่า คุณภาพการศึกษา เด็กในเมืองกับชนบทห่างกัน 3 ปี นักวิชาการมองรัฐทำดีแต่ล่าช้า ควรสนับสนุนงบฯ เต็มที่ และกระทรวงศึกษา พัฒนาสังคม สาธารณสุข ต้องบูรณาการร่วม และครูต้องติดตามใกล้ชิด เพราะปัญหาต่างกัน
งานวิจัยโออีซีดีวิเคราะห์ผลสอบ PISA ของไทย พบว่ามีนักเรียนยากจนพิเศษทำคะแนนสูงในระดับนานาชาติอยู่ถึงร้อยละ 3.3 หากสนับสนุนและช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้เต็มที่ จะเพิ่มจำนวนเด็กหัวกะทิได้อีก 6 เท่า หรือร้อยละ 18 หรือประมาณ 400,000 คน.-สำนักข่าวไทย