ยธ.16 ก.ค.-รองปลัด ยธ.วอนอย่ารุกเร้าเคารพสิทธิ์ 13หมูป่าอะคาเดมี ห่วงป่วยด้วยภาวะโรคซึมเศร้าระยะยาว วอนสังคมช่วยประคับประคอง ให้มีชีวิตรอดอย่างมีคุณภาพ ถ้าพร้อม จะไปขอกอด 25 ก.ค.นี้
นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กล่าวถึงการกอดให้กำลังใจนายเอกพล จันทะวงศ์ หรือโค้ชเอก และทีมฟุตบอลเยาวชน หมูป่าอะคาเดมี่ทั้ง 12 คน ว่า ตนอยากเข้าพบและกอดเพื่อให้กำลังใจเยาวชนกลุ่มนี้ทั้งหมด โดยมีกำหนดการที่จะต้องไปเปิดสำนักงานยุติธรรมจังหวัดพะเยาในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ หลังจากเสร็จภารกิจก็จะให้ขอให้ยุติธรรมจังหวัดเชียงรายประสานเพื่อเข้าให้กำลังใจเยาวชนทั้งหมด แต่ต้องดูความพร้อมของเด็กๆและครอบครัวก่อนว่า ต้องการจะพบคนแปลกหน้าเช่นตนหรือไม่ หากพร้อมก็อยากให้กำลังใจ แต่ถ้าไม่พร้อมตนก็เคารพสิทธิ์ของเขา ซึ่งความพร้อมของเยาวชนทั้งหมดไม่เฉพาะตนเท่านั้นที่ต้องเคารพสิทธิ์ และต้องมีจิตสำนึกร่วม ไม่เข้าไปคุกคามหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่รวมถึงสื่อมวลชน เพื่อนๆ พี่ น้อง และองค์กรต่างๆทีเสนอให้ความช่วยเหลือด้วย
“แม้แพทย์จะระบุว่า ขณะนี้ทั้ง 13 คน จะมีสุขภาพจิตเป็นปกติ ร่าเริงดี แต่ลึกๆไม่มีใครทราบว่าขณะที่ติดอยู่ในถ้ำ ภาวะจิตใจลึกๆของพวกเขา เป็นอย่างไร สิ่งที่วิตกกังวล ในระยะยาวคืออาจป่วยด้วยโรคซึมเศร้าเรื้อรัง ซึ่งโรคดังกล่าวมีระยะเวลารื้อรัง 2 ปีจึงจะแสดงอาการให้เห็น และหากมีคนเข้าไปเร้าหรือกระตุ้น เช่น กรณีอดีต 33 คนงานติดเหมือง69 วัน ที่ประเทศชิลี ที่ออกมาเตือนให้ระวังและไม่อยากให้เยาวชน 13 คนตกอยู่ในภาวะเช่นเดียวกับเขาถือว่าเป็นข้อคิดที่สังคมจะต้องให้ความสำคัญ เพราะขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเด็กแต่ละคนเมื่อกลับคืนสู่ครอบครัวแล้วจะมีอาการลึกๆอย่างไรหรือไม่ บางคนอาจกลัวที่มืด ที่แคบ หรือไม่กล้านอนหลับ หวาดผวา ซึ่งอาจเป็นไปได้ จึงยังไม่ควรมีอะไรเข้าไปกระตุ้นในช่วงนี้”รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าว
รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวด้วยว่า หลังจากกลุ่มหมูป่าอะคาเดมี่ออกจากโรงพยาบาลแล้ว สิ่งที่สังคมและสื่อมวลชนจะต้องกระทำคือ กระบวนการปลอบประโลมเพื่อป้องกันไม่ให้เขาตกไปในหลุมดำ อย่างไรก็ตามยอมรับว่า การติดถ้ำในครั้งนี้มีคุณูปการต่อประเทศไทยมากเพราะทำให้คนทั่วโลกรู้จักไทยมากกว่าเดิม เพราะมีการระดมทีมนักดำน้ำและเครื่องมือที่ดีที่สุดในโลกมารวมอยู่ที่นี่ ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุด คือสังคมจะต้องช่วยกันประคับประคองเยาวชนกลุ่มนี้ให้มีชีวิตอยู่รอดอย่างมีคุณภาพ และต้องไม่ละเลยปัญหา การช่วยเหลือในสิ่งที่เป็นไปได้ ต้องไม่ลืมว่าเขาไม่ใช่ฮีโร่ แต่เป็นผู้ประสบภัย จึงต้องใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาร่วมกันถอดบทเรียนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต.-สำนักข่าวไทย