เชียงราย 7 ก.ค.61- ผบ.ศอร. ยอมรับการนำ 13 ชีวิตออกจากถ้ำหลวงเป็นเรื่องยากที่สุด แต่ยืนยันเลือกวิธีการที่เป็นไปได้ และเสี่ยงน้อยที่สุด คาด 2-3 วันนี้เป็นช่วงเหมาะสม ก่อนถึงช่วงหน้าน้ำ ที่น้ำจะไปถึงจุดพัก จนเหลือพื้นที่แค่ 10 ตารางเมตร
นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการเหตุการณ์ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เรียงราย (ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ศอร.) แถลงข่าวประจำวัน วันนี้ (7 ก.ค.) ถึงแนวทางและความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประสบภัย 13 ชีวิตทีมหมูป่า อะคาเดมี ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ซึ่งเข้าสู่วันที่ 15 ยอมรับว่า การนำตัวทั้งหมดออกมาจากถ้ำให้ได้อย่างปลอดภัย เป็นส่วนที่ยากที่สุดของภารกิจนี้ ต้องใช้ทักษะอย่างสูงของนักดำน้ำในถ้ำ ซึ่งแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญยังบอกว่า สามารถไปได้ถึงโถง 3 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม นายณรงค์ศักดิ์ ยืนยันว่า คณะทำงานได้คิดวางแผนหาแผนช่วยเหลืออย่างดีที่สุด และปลอดภัยมากที่สุดตลอดเวลา มีการวิเคราะห์ว่าทางที่ปลอดภัยที่สุดคือ น้ำต้องลดทั้งหมด ซึ่งต้องใช้เวลาค่อนข้างนานเกินไป จึงต้องหาวิธีที่เป็นไปได้ และเสี่ยงน้อยที่สุด
“ในช่วงนี้ทั้งเรื่องระดับน้ำในถ้ำที่ลดลงในระดับที่น่าพอใจมาก สภาพอากาศที่ยังไม่มีฝนตกหนักเพิ่มเติม และสุขภาพร่างกายของทั้ง 13 คนเริ่มสมบูรณ์ แข็งแรง และเรียนรู้วิธีดำน้ำเบื้องต้นแล้ว จึงคาดว่าในช่วง 2-3 วันนี้ อาจเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด ในการปฏิบัติตามแผนที่มีการซ้อมมาอย่างต่อเนื่อง” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้จะมีทีมเชี่ยวชาญกู้ภัยถ้ำระดับโลกจากอังกฤษ มาสมทบอีก 2 ทีม ร่วมทำงานกับ 2 ทีมเดิม และหน่วยซีล โดยจะเป็นกำลังหลักดำน้ำเข้าถึงจุดที่ทั้ง 13 คนอยู่ หรือจุดเนินนมสาว ช่วยทั้งหมดออกมาให้เร็วที่สุด เนื่องจากมีการประเมินแล้วว่า หากรอถึงช่วงหน้าน้ำ น้ำในถ้ำจะเพิ่มขึ้นถึงจุดเนินนมสาวไปถึงจุดที่พักของทั้ง 13 คนได้ จะเหลือพื้นที่อยู่ได้เพียง 10 ตารางเมตร ถือว่าจะกระทบต่อจิตใจและร่างกายได้
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนทีมสำรวจโพรง โดยกรมอุทยานแห่งชาติร่วมกับกองทัพบก และทีมเก็บรังนกจาก จ.ตรัง เดินหน้าหาโพรงที่จะลงไปสู่โถงถ้ำได้ เพื่อเป็นช่องทางเลือกในการช่วยเหลืออีกหนึ่งวิธี ส่วนอีกทีมจะเดินหน้าหาจุดน้ำไหล เบี่ยงทางน้ำ ลดน้ำเข้าถ้ำให้มากที่สุด
“ทั่วโลกมีความคาดหวังกับปฏิบัติการช่วยเหลือนี้อย่างมาก ด้วยเป็นเหตุที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นกรณีศึกษา เป็นตำราในการช่วยเหลือในอนาคต มีการส่งกำลังคน อุปกรณ์เทคโนโลยีมาช่วยอย่างเต็มที่” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ศอร.ขอความร่วมมือสื่อมวลชน ทำหน้าที่ในจุดที่กำหนดไว้เท่านั้น เพื่อลดปัญหากีดขวางการช่วยเหลือ หรือแผนซักซ้อมต่างๆ และเป็นระเบียบ ไม่กระทบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย.- สำนักข่าวไทย