กทม. 22 ก.ย. – มีประเด็นถกเถียงในโซเชียลมีเดียว่าผู้บริโภคมีสิทธิ์ปฏิเสธการจ่ายค่า เซอร์วิสชาร์จ (Service Charge) หรือค่าธรรมเนียมการบริการที่ร้านอาหารหรูหรือร้านอาหารบางแห่งเรียกเก็บได้หรือไม่ อธิบดีกรมการค้าภายในระบุว่า ผู้ประกอบการต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบก่อน โดยต้องเรียกเก็บในอัตราที่เหมาะสม และเมื่อระบุชัดเจน หากจะใช้บริการก็จำเป็นต้องจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้
สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอมรายนี้ตั้งกระทู้ผ่านสังคมออนไลน์ เนื้อหาระบุว่า เขาปฏิเสธการจ่ายเงินค่าเซอร์วิสชาร์จ หรือค่าธรรมเนียมการบริการแก่ร้านอาหารทุกร้าน และอ้างว่าตามกฎหมายร้านอาหารไม่สามารถเก็บเซอร์วิสชาร์จได้ พร้อมชี้ว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หลังจากนั้นไม่นานเกิดข้อถกเถียงมากมาย ก่อนกระทู้นี้จะถูกลบออกไป
เซอร์วิสชาร์จ ค่าธรรมเนียมการบริการที่ผู้ประกอบการคิดเพิ่มจากผู้บริโภคนอกจากผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าและบริการ เช่น ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า และโรงแรม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ให้ความเห็นว่าผู้ประกอบการมีสิทธิ์เรียกเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จได้ แต่การเรียกเก็บต้องอยู่ในอัตราที่เหมาะสม และต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบก่อน เช่น ติดประกาศให้ทราบ หรือพิมพ์ในเมนูอาหาร ผู้ประกอบการที่ไม่แจ้งแต่เรียกเก็บเซอร์วิสชาร์จถือว่าผิดกฎหมาย มีโทษปรับ 10,000 บาท ที่สำคัญในกฎหมายไม่ได้ระบุว่าผู้ประกอบการจะเรียกเก็บเซอร์วิสชาร์จได้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์
นักกฎหมายชี้ว่าเมื่อผู้บริโภคเข้ามาซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่ระบุชัดเจนว่ามีการเรียกเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จ ผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องจ่ายเงินส่วนนี้โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะถือว่าผู้บริโภคเลือกรับบริการนั้นแล้ว แต่หากทางร้านไม่แจ้งล่วงหน้า ผู้บริโภคก็เลือกที่จะไม่จ่ายได้
มีข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ว่ามีผู้บริโภคร้องเรียนการเรียกเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จเข้ามาแล้ว 3 ราย โดยให้เหตุผลเช่น ไม่ได้รับการบริการจากผู้ประกอบการ หรือได้รับบริการที่แย่ และอัตราเซอร์วิสชาร์จที่เรียกเก็บแพงเกินไป. – สำนักข่าวไทย