ปทุมวัน 4 ก.ค.-นักวิชาการเรียกร้องถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน หลัง13 ชีวิตออกจากถ้ำหลวง ระมัดระวังการตั้งคำถาม อย่าถามเปิดแผล แนะถอดบทเรียนให้สังคมได้เรียนรู้
น.ส.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีหลังเด็กและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 คน ออกมาจากถ้ำหลวง ว่า สื่อมวลชนสามารถสัมภาษณ์เด็กๆ ได้ แต่การตั้งคำถามต้องอยู่บนเงื่อนไขความเป็นธรรมชาติของเด็ก ต้องคำนึงถึงความเปราะบาง ความอ่อนไหวต่อสภาพจิตใจของเด็ก หลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติเพราะสิ่งเหล่านี้ย่อมกระทบต่อความรู้สึกของเด็กๆในระดับลึก หลักการนำเสนอข่าวหลังจากนี้ สื่อต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษกับการตั้งคำถาม อย่าถามในลักษณะเปิดบาดแผล หรือตีตราซ้ำให้กับเด็ก
นักวิชาการจากจุฬาฯ กล่าวด้วยว่า สื่อควรตั้งคำถามในลักษณะเสริมพลังจิตใจให้เด็กๆ รู้สึกว่าพวกเขามีคุณค่าสามารถเอาตัวรอดผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากมาได้เพราะคือประสบการณ์ชีวิต ที่ส่งผลต่ออนาคตของเด็ก ตลอดจนการตั้งคำถามที่สังคมได้เรียนรู้ ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ในครั้งนี้
ส่วนกระแสโซเชียลที่ตั้งคำถามเด็กๆไม่ใช่ฮีโร่นั้น ส่วนตัวมองว่าความเป็น ฮีโร่มีอยู่ในตัวของทุกคน อย่ายึดติดกับคำๆนี้ จนส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็ก แต่ควรเรียนรู้สถานการณ์ในครั้งนี้ไปพร้อมๆ กับเด็ก.-สำนักข่าวไทย