แนะสื่อสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยมุมบวก

กรุงเทพฯ 4 ก.ค.-สมาคมจิตแพทย์ฯ แนะสื่อมวลชนสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยใช้คำถามมุมมองด้านบวก วิธีปลุกปลอบใจกันให้มีกำลังใจในกลุ่มผู้ประสบภัย ใช้อะไรในการสร้างความหวัง และควรป้องกันไม่ให้เกิดการซ้ำเติมทางจิตใจ 


นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 รศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือคำแนะนำในการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยมาถึงสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ในกรณีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวน 13 คน ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย โดยเนื้อหาตอนหนึ่งในหนังสือระบุว่า เด็กทุกคนที่ได้รับการช่วยเหลือออกมายังอยู่ในช่วงที่ต้องได้รับการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง สมาคมจิตแพทย์ฯ เป็นห่วงเรื่องความสนใจในการติดตามข่าว ตลอดจนการทำข่าวอันจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของสภาพจิตใจของเด็ก ๆ ในทีม จึงส่งคำแนะนำแนวทางการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยสำหรับสื่อมวลชนเพื่อจะช่วยกันระมัดระวังในบางประเด็น 


โดยหนังสือดังกล่าวเขียนถึงข้อควรระวังของสื่อมวลชนว่า การสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยควรให้ผู้ประสบภัยได้พักและรับการปลอบใจจากครอบครัวเป็นส่วนตัว จนสภาพร่างกายและจิตใจฟื้นตัวก่อน การสัมภาษณ์ควรสอบถามมุมมองด้านบวก เช่น วิธีปลุกปลอบใจกันให้มีกำลังใจในกลุ่มผู้ประสบภัย ใช้อะไรในการสร้างความหวัง และควรมีการป้องกันไม่ให้เกิดการซ้ำเติมทางจิตใจ (retraumatization) เช่น การสอบถามในเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เวลาเล่าจะเป็นการกระตุ้นให้ระลึกถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำจนทำให้ผู้ประสบภัยเกิดอาการของความหวาดกลัว ตกใจ หดหู่จิตใจขึ้นมาอีก บางครั้งผู้สัมภาษณ์เจตนาถามให้เกิดอารมณ์ร่วมด้วยมาก ๆ เพื่อให้ภาพข่าวมีอารมณ์ มีสีสัน กระตุ้นความรู้สึกผู้ชม แต่การทำเช่นนั้นเป็นผลเสียแก่ผู้ถูกสัมภาษณ์อย่างมาก รบกวนการฟื้นตัวทางจิตใจ อาจทำให้อาการของโรคเป็นเรื้อรัง โดยเฉพาะเมื่อมีการสัมภาษณ์ซ้ำ ๆ ให้เครียดมาก การสัมภาษณ์ควรเลือกสัมภาษณ์บุคคลไม่ให้ซ้ำกัน 

ส่วนการนำเสนอข่าว นายกสมาคมจิตแพทย์ฯ แนะนำว่า ข่าวที่นำเสนออย่างตื่นเต้น สมจริงสมจังมาก กระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกตื่นเต้นตามไปด้วยจนเมื่อชมมาก ๆ หรือบ่อย ๆ จะเกิดอาการทางจิตเวชได้ บางคนเกิดอาการได้มากเหมือนผู้ที่เผชิญภัยพิบัติจริง ๆ  คนที่เผชิญภัยพิบัติมาแล้วได้มาชมข่าวเช่นนี้ จะเกิดภาวะซ้ำเติมทางจิตใจได้เช่นกัน 

สำหรับการป้องกันแก้ไข นายกสมาคมจิตแพทย์ฯ แนะนำ ว่า 1.การนำเสนอข่าวควรมีการสอดแทรกและแนะนำทางออก ทางแก้ไข คำแนะนำทางสุขภาพจิตเพื่อให้ความรู้การปฏิบัติตัว เช่น ให้เข้าใจสำหรับผู้ประสบภัยว่าความรู้สึกไม่ดีที่เกิดขึ้นในระยะแรกนั้นเป็นเรื่องธรรมดา หายได้ ควรทำตัวอย่างไร 2.นำเสนอเรื่องผ่อนคลายสลับ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ.-สำนักข่าวไทย


ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

ซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติฯ สุดตระการตา รับประเพณียี่เป็ง

ยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ ประดับประดาด้วยแสงไฟรับประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนท่าแพ มีการสร้างซุ้มประดับไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 14 ซุ้ม ยาวกว่า 200 เมตร.

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมรีดทรัพย์ รับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพื่อขายงาน

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมเรียกรับเงิน 20 ล้านบาท จากดิไอคอน ยอมรับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพราะต้องการขายงาน

คุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง เจ้าตัวเงียบรีบเดินขึ้นรถตู้

ตำรวจกองปราบคุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง ผู้ต้องหาปัดตอบสื่อ ด้านพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เพราะมีพฤติการณ์หลบหนี