กรุงเทพฯ 22 พ.ค. – กระทรวงพลังงานควักเงินกองทุนฯ อุ้มดีเซล 50% ของราคาที่จะปรับขึ้นไม่ให้ราคาขายปลีกทะลุ 30 บาทต่อลิตร พร้อมยอมถอยให้ผู้ค้ากลับมาประกาศราคาล่วงหน้าได้แล้ว
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้กระทรวงพลังงานเตรียมนำเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบวิกฤติราคาน้ำมันผันผวนอย่างรวดเร็วต่อผู้บริโภคให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาเห็นชอบนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันมีเงินคงเหลือประมาณ 30,000 ล้านบาท เป็นเครื่องมือแบ่งเบาราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล 50% ของราคาที่ควรจะเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกไม่ให้เกินกว่า 30 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งเงินกองทุนจะเพียงพอสำหรับการดำเนินมาตรการดังกล่าวได้ประมาณ 10 เดือน
“นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวขึ้นไปสูงกว่า 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล กระทรวงพลังงานจึงจะนำเงินกองทุนมาแบ่งเบาราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล โดยราคาน้ำมันตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นไป 1 บาท จะนำเงินกองทุนช่วยลดภาระการขึ้นราคา 50 สตางค์ และให้ปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลได้ 50 สตางค์ อีกทั้งยังผ่อนผันให้ผู้ค้ามาตรา 7 สามารถประกาศราคาขายปลีกน้ำมันที่มีการปรับเปลี่ยนล่วงหน้าให้สังคมรับทราบตามเดิมด้วย” นายศิริ กล่าว
ทั้งนี้ หาก กบง.เห็นชอบจะสามารถดำเนินการได้ทันที ในระหว่างที่ยังไม่มีจำหน่ายน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ หรือB20 ในสถานีบริการช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ตามนโยบายช่วยดูดซับปริมาณผลิตน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินด้วยการผลิตน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษที่มีส่วนผสม ไบโอดีเซลเพิ่มจาก 7% สำหรับดีเซลเกรดทั่วไป (B7) เป็น 20% (B20) เพื่อใช้ในกลุ่มรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ โดยจูงใจด้วยราคาขายปลีกต่ำกว่าน้ำมันดีเซลเกรดปกติ 3 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ราคาต้นทุนน้ำมันของกลุ่มรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ อยู่ในระดับต่ำประมาณ 27 บาทต่อลิตร ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการกลุ่มรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ต้องปรับขึ้นค่ารถโดยสารสาธารณะหรือค่าขนส่งไม่ว่ากรณีใด
สำหรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ที่ขณะนี้มีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนก๊าซหุงต้มบรรจุถังขนาด 15 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นนั้น ประเมินว่าไม่น่าส่งผลกระทบยาวนาน เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนของซีกโลกเหนือแล้ว ทำให้ความต้องการใช้แอลพีจีมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ราคาก๊าซหุงต้มน่าจะลดลงตามไปด้วย โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาแอลพีจีตลาดโลกอยู่ที่ 563.6 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 114 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากต้นเดือนเมษายนอยู่ที่ประมาณ 449 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่งผลให้ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มขยับขึ้นตลอดหลายที่ผ่านมา
สำหรับราคาน้ำมันตลาดโลกวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 77 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาดีเซลอยู่ที่ 93.24 หรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งมีผลต่อต้นทุนเนื้อน้ำมันดีเซล 3.30 บาทต่อลิตร ขณะเดียวกันค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จากระดับ 31.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 32.29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ราคาดีเซลอ้างอิงในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นอีก 52 สตางค์ ส่งผลให้ภาพรวมต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.82 บาทต่อลิตร
นายศิริ กล่าวยอมรับว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มขึ้น 15.30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จาก 61.75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2561 เป็น 77.05 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล วันที่ 19 พฤษภาคม 2561 ส่งผลให้ราคาดีเซลอยู่ที่ 93.24 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งมีผลต่อต้นทุนเนื้อน้ำมันดีเซล 3.30 บาทต่อลิตร ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจากระดับ 31.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 32.29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ราคาดีเซลอ้างอิงในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นอีก 52 สตางค์ต่อลิตร ดังนั้นภาพรวมต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลจึงปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.82 บาทต่อลิตร
อย่างไรก็ตาม จากการปรับสูตรการคำนวณราคาอ้างอิง ณ โรงกลั่น และการลดจำนวนเงินจัดเก็บเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน 0.15 บาท/ลิตร เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2561 ส่งผลให้ราคาดีเซลขายปลีกในประเทศเพิ่มขึ้นต่ำกว่าที่ควรเป็น 0.62 บาท/ลิตร หรือเพิ่มขึ้นสุทธิจริงเท่ากับ 3.20 บาท/ลิตร เป็น 29.79 บาท/ลิตร.-สำนักข่าวไทย