กรุงเทพฯ18 พ.ค. เผยสถานการณ์ยาเสพติดในกรุงเทพปีนี้ลดลง ชวนผู้เสพ
ผู้ติดยาเข้าสู่การบำบัดเพื่อกลับคืนสู่สังคม
นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส.ตรวจเยี่ยมศูนย์คัดกรองผู้เสพยาเสพติดและศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกรุงเทพมหานคร
พร้อมมอบโล่เกียรติยศขอบคุณองค์กรบุคคลที่ร่วมสนับสนุนและบูรณาการการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
มอบทุนประกอบอาชีพแก่ผู้ผ่านการบำบัดรักษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
รวมทั้งมอบประกาศนียบัตรให้แก่ ผู้ผ่านการบำบัดรักษาจากศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมฯ
จำนวน 71 คน
เลขาธิการป.ป.ส. กล่าวว่า
จากการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานครปัจจุบัน
พบว่ามีแนวโน้มลดลงจากเดิม 14.43% เมื่อเปรียบเทียบจากปีที่ผ่านมา
เป็นผลจากการให้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่สนธิกำลังในการปราบปรามอย่างจริงจัง
รวมถึงการดำเนินการกับเรื่องร้องเรียนของประชาชน ผ่านสายด่วน 1386
แต่ปัญหาการดำเนินการกับผู้เสพ// ผู้ติด ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของพื้นที่จึงเกิดการจัดตั้งศูนย์คัดกรองผู้เสพยาเสพติด
และศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกรุงเทพมหานคร ที่ให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ One Stop Service รองรับกลุ่มผู้เสพดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560
โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานภาคีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ตั้งแต่ขั้นตอนการค้นหานำส่ง การค้นหาและนำส่งผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด
ชักชวนให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
ภายใต้การบริหารจัดการของ ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร
(ศอ.ปส.กทม.) ที่จัดบุคลากรทางการแพทย์พร้อมทีมวิชาการอบรมและพัฒนาหลักสูตร
เข้ามากำกับดูแล ควบคุม
มาตรฐานและคุณภาพการบำบัดรักษามีศูนย์บริการสาธารณสุขและคลินิกยาเสพติดอีก 68 แห่ง
ที่รองรับการส่งต่อกรณีผู้เสพมีโรคติดต่อร้ายแรง
นอกจากนี้เครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาชน
ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเขต
ในการดูแลผู้ผ่านการบำบัดรักษาที่ได้รับทุนประกอบอาชีพให้สามารถหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว
พร้อมทั้งมีกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร เข้ามาช่วยฝึกระเบียบวินัยและฝึกอาชีพให้แก่ผู้เข้ารับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ผลการดำเนินงานด้านการบำบัดรักษาที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงเปิดศูนย์ฯ
– ปัจจุบัน มีผู้ผ่านการบำบัดรักษาแล้วทั้งสิ้น 1,680 ราย
โดยส่งต่อเข้ารับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจำนวน 5 แห่งใน 3 จังหวัด ได้แก่
กรุงเทพมหานคร (1 แห่ง) กาญจนบุรี (3 แห่ง) และปทุมธานี ( 1 แห่ง)
เป็นการให้โอกาสผู้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้กลับตัวกลับใจ
เริ่มต้นชีวิตใหม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข
โดยไม่หวนกลับไปเสพยาเสพติดซ้ำอีก
แต่อย่างไรก็ตามการที่จะให้ผู้ผ่านการบำบัดรักษาเลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขนั้น
จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในเรื่องอาชีพและมีงานทำ ป.ป.ส.จึงมอบทุนประกอบอาชีพให้แก่ผู้ผ่านการบำบัดรักษาทั่วประเทศแล้วจำนวน
1,955 ราย
สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครยังคงมีผู้เข้ารับทุนประกอบอาชีพน้อยกว่าจังหวัดอื่น
ตั้งแต่ปี 2559 มีผู้ขอรับทุนเพียง 13 ราย และปีนี้มีเพียง 1 ราย
เนื่องจากผู้ผ่านการบำบัดรักษาเกือบครึ่งเป็นประชากรแฝง
ไม่มีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่ง และบางส่วนได้กลับภูมิลำเนา
ส่วนผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพมหานครส่วนใหญ่เป็นผู้มีงานทำ .-สำนักข่าวไทย