กทม.15 พ.ค.-เครือข่ายศิลปินและภาคประชาสังคม ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ระงับแนวคิด กทม.นำหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กลับไปบริหารเอง
นายจุมพล อภิสุข นายวสันต์ สิทธิเขต และนายมานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปินและนักเขียน พร้อมด้วยเพื่อนศิลปิน เครือข่ายศิลปินและภาคประชาสังคมศิลปวัฒนธรรม รวมตัวกันที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ระงับไม่ให้กรุงเทพมหานคร ยึดคืนหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ไปบริหารเอง
นายจุมพล กล่าวว่า การให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยอ้างว่าสาเหตุเพราะการบริหารงานของมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครนั้น บกพร่องเก้าอี้ไม่เพียงพอ และยังขาดทุนกว่าปีละ 80 ล้านบาท รวมทั้งยังอ้างถึงการท้วงติงจากสภากรุงเทพมหานคร เรื่องการบริหารงาน นอกจากนี้ยังระบุว่าหากไม่ให้คืนก็จะไม่ให้งบประมาณ เรื่องนี้ทางเครือข่ายศิลปินฯเห็นว่าเป็นการกล่าวหาที่ปราศจากข้อมูลความจริง หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครให้บริการด้านการจัดหารประชุมสัมนาวิชาการ และงานศิลปะมากกว่า 100 ครั้งต่อปี มีผู้เข้าร่วมกว่าปีละ 10,000 คน และผู้เข้าชมปีที่ผ่านมาถึง 1.7 ล้านคน
นอกจากนั้นยังสามารถหางบประมาณจัดกิจกรรมได้เอง นอกเหนือจากเงินอุดหนุนที่ กทม.ให้ปีละ 40 ล้านบาท ส่วนที่ กทม. ให้เป็นงบประมาณ ที่นำมาใช้จ่ายด้านการสนับสนุน พื้นฐานสาธารณูปโภค ค่ารักษาความปลอดภัยและการซ่อมแซมอาคาร ส่วนเงินเดือนพนักงาน และหารจัดกิจกรรมอื่นอื่นๆเป็นส่วนที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หางบประมาณมาเอง ปีที่ผ่านมาได้กว่า 37 ล้านบาท จึงเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่มีหลักฐานใดๆมาอ้างอิง
ทั้งนี้ จากเหตุผลข้างทางเครือข่ายจึงรวมกันคัดค้านที่ผู้ว่าฯ กทม.จะยึดหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครไปดำเนินการนอกจากจะผิดปฏิญญาที่ กทม.ทำไว้กับตัวแทนประชาชน และตัวแทนศิลปินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2548 ที่ให้หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครบริหารจัดหารโดยมูลนิธิหอศิลปฯ ที่มีกรรมการและผู้บริหารเป็นตัวแทนจากศิลปิน นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความคล่องตัว โดย กทม.ให้การสนับสนุนงบประมาณ
อีกทั้งจากคำให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าฯกทม.และผอ.สำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว ยอมรับว่าหน่วยงานของ กทม.ก็ไม่มีประสิทธิภาพและความรู้จะมาบริหารองค์ด้านศิลปวัฒนธรรม และการไม่ปรึกษาหารือกับคณะกรรมการคณะบริหาร ย่อมเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง จึงอยากขอให้นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งระงับแนวคิดดังกล่าวของผู้ว่าฯกทม.โดยด่วนเพื่อเป็นการเคารพปฏิญญาที่ได้ตกลงไว้ร่วมกัน
ด้าน นายมานิต กล่าวว่า หลังมีกระแสข่าวออกมาว่าผู้ว่าฯกทม.ยอมถอยหากประชาชนไม่เห็นด้วย เรื่องนี้ในส่วนเครือข่าย ไม่เชื่อว่ายอมตามที่พูด เป็นเพียงการลดกระแสด้านลบที่กำลังเกิดขึ้นมากกว่า ถ้าจะทำให้สังคมเกิดความเชื่อมั่น ต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการนั่งแถลง หรือการเซ็นสัญญาร่วม เพราะสถานที่ตรงนี้เป็นสถานที่ให้ความรู้ และเป็นสถานที่ของประชาชน ไม่ใช่จุดที่หน่วยงานภาครัฐจะมาหาประโยชน์ เมื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนทั่วประเทศ ไม่เข้าใจว่าที่ กทม.ออกมาให้ข่าวเรื่องผลกำไร จึงมีความจำเป็นอย่างไร แค่สามารถมีงบประมาณในการเลี้ยงดูคน ดูแลอาคารได้ หากิจกรรม องค์ความรู้มาให้ประชาชนก็น่าจะเป็นที่น่าพอใจแล้ว
สำหรับการเคลื่อนไหวหลังจากนี้ต้องรอความชัดเจนจาก กทม.หากไม่มีการตอบรับ คงมีการรวมกลุ่มเคลื่อนไหวอย่างแน่นอน อย่าลืมว่าในสมัย
ผู้ว่าฯ กทม.นายสมัคร สุนทรเวช กลุ่มศิลปิน ก็เรียกร้องชุมนุมนานเป็นปี พื้นที่ตรงนี้ให้ทำเป็นหอศิลปฯแทนที่จะเป็นห้าง หรือที่จอดรถ ให้ทำเป็น หอศิลปฯเพื่อเป็นการบริการสาธารณะอย่างแท้จริง หากจะยกเลิก เหล่าศิลปินจะเคลื่อนไหวแน่นอน ซึ่งการชุมนุมเป็นหนึ่งในวิธีการต่อสู้เชื่อว่ารัฐบาลก็ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย