กรุงเทพฯ 29 เม.ย. – วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ รัฐบาลจะเริ่มส่งน้ำเข้าพื้นที่ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างครอบคลุม 10 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อให้เกษตรกรเตรียมการเพาะปลูกข้าวเร็วขึ้น
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ รัฐบาลจะเริ่มส่งน้ำเข้าพื้นที่ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างครอบคลุม 10 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ได้แก่ นครสวรรค์, ชัยนาท, ลพบุรี, สระบุรี, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, สุพรรณบุรี, ปทุมธานี และนนทบุรี รวมพื้นที่ 1.15 ล้านไร่ เพื่อให้เกษตรกรเตรียมการเพาะปลูกข้าวเร็วขึ้น ซึ่งแนวทางนี้เป็นการแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรที่เสียหายจากภาวะน้ำท่วม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร จึงสั่งการให้แก้ไขอย่างเร่งด่วนด้วยการออกมาตรการเลื่อนเวลาการปลูกข้าวจากเดือนมิถุนายนเป็นเดือนพฤษภาคม ซึ่งช่วยลดความเสียหายได้มาก พร้อมทั้งกำชับให้ขยายผลไปยังพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นทั้งในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย
นายกฯ เน้นย้ำอยากให้เกษตรกรมีความสามัคคีและร่วมมือกัน เพาะปลูกหรือทำการเกษตรอย่างพร้อมเพรียงกัน เมื่อถึงเวลาเปิดปิดน้ำ ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรโดยตรงแล้ว ยังช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางอีกด้วยการเลื่อนปฎิทินการเพาะปลูก และใช้พื้นที่ 12 ทุ่งเป็นแก้มลิงธรรมชาติชั่วคราวสำหรับพักชะลอรองรับน้ำหลากหลังเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จช่วงเดือนกันยายน ในปีที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่ได้รับประโยชน์และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้ง ๆ ที่มีปริมาณฝนตกสะสมใกล้เคียงกับปี 2554 แต่ไม่เกิดความเสียหายเท่ากับปี 2554 สำหรับปีนี้คาดว่าจะสามารถรองรับน้ำไว้ได้มากถึง 1.5 พันล้านลูกบาศก์เมตรเท่ากับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 2 เขื่อน ช่วยลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนตามแนวริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเขตเศรษฐกิจตอนล่าง กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยดำเนินการควบคู่กับการปรับปรุงเสริมคันกั้นน้ำให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ และไม่เป็นอุปสรรคต่อการสัญจร .- สำนักข่าวไทย